ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ธ.ค.64 ที่ 46.2 จาก 44.9 ใน พ.ย.64

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือน ธ.ค.64 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 46.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 44.9 ในเดือนพ.ย. 64

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 40.1, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ระดับ 42.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 55.7

โดยมีปัจจัยบวก คือ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 7 มาตรการ, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%, กนง.ปรับคาดการณ์ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 64 เพิ่มขึ้นเป็น 0.9% จากเดิมคาด 0.7% และยังคงคาดการณ์ GDP ปี 65 และ ปี 66 ขยายตัวต่อเนื่อง, สถานการณ์โควิด-19 ระดับโลกปรับตัวดีขึ้นจากการฉีดวัคซีนมากขึ้น รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดของไทยมีแนวโน้มลดลง, การส่งออกเดือนพ.ย.64 ขยายตัว 24.73% และพืชผลทางการเกษตรหลายตัวปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลต่อการแพร่ระบาดที่ยังมีทั่วประเทศ รวมทั้งไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอนทำให้มีการยกเลิก Test&Go ชั่วคราว, ผู้บริโภคยังกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว และค่าครองชีพสูง, ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมือง และ เงินบาทปรับตัวอ่อนค่า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนธ.ค. 64 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนเม.ย.64 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มคลายความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ที่แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน อาจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนช่วงหลังวันหยุดยาวปีใหม่ 2565 แต่จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันในประเทศเริ่มมีแนวโน้มลดลง

ประกอบกับการฉีดวัคซีนในประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงการยกเลิกมาตรการเปิดประเทศภายใต้ระบบ Test&Go อาจส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยถดลง และระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งต้องติดตามว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ม.หอการค้าไทย ยังคงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 65 ไว้ที่ 4% ภายใต้สถานการณ์ที่คาดว่าการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะคลี่คลายลงได้ในเดือนม.ค.นี้ และที่สำคัญต้องไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ ซึ่งแม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจจะปรับตัวลดลงบ้าง แต่ก็ไม่ทรุดตัวลงแรง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเข้มแข็งพอที่จะรับมือกับสถานการณ์โอมิครอนได้ดี โดยเชื่อว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ในช่วงไตรมาส 2 และจะเติบโตอย่างเข้มแข็งได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 65 เป็นต้นไป

“เศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับโอมิครอนได้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2…เรามองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้ 4% ตามที่คาดไว้เดิม ภายใต้การคาดว่าสถานการณ์โอมิครอนจะคลี่คลายได้ภายในเดือนม.ค. เรายังไม่ปรับ GDP” 
นายธนวรรธน์กล่าว

พร้อมมองว่า ขณะนี้รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเร่งเดินหน้าโครงการ “คนละครึ่ง” อย่างต่อเนื่อง เพราะจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้เป็นอย่างดี และเมื่อการระบาดในประเทศคลี่คลายลงแล้ว รัฐบาลอาจจะต้องปรับโหมดจากการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยไปเป็นการกระตุ้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น

 

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวด้วยว่า การระงับการเดินทางเข้าประเทศในระบบ Test&Go หากมีผลบังคับใช้เฉพาะช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และสามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาได้ในไตรมาส 2 ก็อาจจะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะไม่กระทบภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มากนัก แต่หากระงับการเดินทางแบบ Test&Go ไปตลอดทั้งปี ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ต่ำกว่า 3%

“ถ้าเปิดให้นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาได้ในไตรมาส 2 ก็จะสูญเสียเพียง 5 หมื่นล้านบาท ไม่กระทบเศรษฐกิจไทยในกรอบ 3-4% มากนัก แต่ถ้าปิด Test&Go ทั้งปี ก็มีโอกาสที่จีดีพีจะโตได้น้อยกว่า 3% ถ้าเปิดตั้งแต่ไตรมาส 2 ก็มีโอกาสจะโตได้มากกว่า 3.5% ทั้งนี้ไม่ควรจะมีการล็อกดาวน์ ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด เพราะถ้าล็อกดาวน์บางส่วน จะเสียหายอีก 3-5 แสนล้านบาท แต่ถ้าล็อกดาวน์ทั้งหมด จะเสียหายสูงถึง 8 แสนล้าน – 1 ล้านล้านบาท และส่งผลให้เกิดการว่างงาน ปัญหา NPL และปัญหาสภาพคล่องตามมา” 
นายธนวรรธน์ ระบุ

ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย ประเมินว่าในปี 65 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 4% โดยในช่วงครึ่งปีแรก โต 2.5-3% ส่วนครึ่งปีหลัง โต 5-5.5% อัตราเงินเฟ้อทั้งปี อยู่ที่ระดับ 1.5% โดยในช่วงครึ่งปีแรก อยู่ที่ 2-2.5% และครึ่งปีหลัง อยู่ที่ 1-1.5%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top