รมช.เกษตรฯ ยันเร่งแก้ปัญหา ASF และราคาเนื้อหมูแพงให้คลี่คลายโดยเร็ว

นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ยืนยันไม่ได้นิ่งเฉยในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) และสถานการณ์เนื้อสุกรที่มีราคาแพง โดยตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการสกัดกั้นและควบคุมโรคดังกล่าว คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบกลางจำนวน 574 ล้านบาท ตามหลักการของ พ.ร.บ.ควบคุมโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และได้กำหนดมาตรการการควบคุมอย่างเข้มข้น โดยส่งชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยงเพื่อสุ่มตรวจสอบเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น

ส่วนการแก้ไขเนื้อสุกรมีราคาแพง จากข้อมูลสุกรรายสัปดาห์พบว่า ในปี 64 มีลูกสุกรเข้าคอกเลี้ยงเฉลี่ยราว 350,000 ตัว ปัจจุบัน (ข้อมูลสัปดาห์แรกของเดือน ม.ค.65) ยังคงมีจำนวนลูกสุกรเข้าเลี้ยงใกล้เคียงกัน นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ยังได้เตรียมมาตรการเพิ่มแม่สุกรให้กับหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ ตลอดจนฟาร์มเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งในสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีการเรียนการสอนด้านสัตวบาล เพื่อผลิตลูกสุกรเข้าสู่ระบบคู่ขนานกันไปด้วย จึงเชื่อมั่นว่าจากมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการทั้งมาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะสั้น และระยะยาวนั้น จะสามารถเพิ่มการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภคได้แน่นอน

รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มีความห่วงใยต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันโรคในระยะที่ผ่านมานั้น หลักๆ แล้วเป็นค่าชดเชยเพื่อทำลายสุกรแทบทั้งสิ้น ซึ่งในขั้นตอนของการดำเนินการ กรมปศุสัตว์จะมีการตั้งคณะกรรมการในระดับพื้นที่เพื่อประเมินค่าความเสียหายและค่าชดเชยสำหรับเกษตรกรทุกราย สำหรับกรณีที่ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยบางราย ได้มีการทำลายสุกรไปแล้ว โดยที่เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ไม่ได้สั่งซึ่งจะทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์การได้รับเงินชดเชยดังกล่าว จะขอรับเรื่องนี้ไปหารือกับผู้เกี่ยวข้องว่าจะสามารถช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง

“ยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งเฉยเรื่องการระบาดของโรค AFS นี้ แต่การออกมาพูดนั้นจะต้องได้รับการยืนยันจากผู้ที่เกี่ยวข้อง หลังจากนี้เมื่อมีการตรวจยืนยันว่าพบเชื้อที่ฟาร์มไหน กรมปศุสัตว์จะมีมาตรการในการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น รวมถึงการทำลายเชื้อตามหลักวิชาการ และจะต้องมีการพักคอกแล้วหยุดเลี้ยงในพื้นที่ดังกล่าวไปจนกว่าจะมีการตรวจสอบหรือประเมินความเสี่ยงแล้วว่ามีความปลอดภัย จึงจะสามารถลงเลี้ยงใหม่ได้อีกครั้ง”

นายประภัตร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ แม้จะไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) และคณะกรรมการพัฒนาไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ก็ตาม แต่จะช่วย รมว.เกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแลการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วและทันท่วงที พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพคู่ขนานอื่นให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ทราบว่ามีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ต้องการกลับมาเลี้ยงสุกรรอบใหม่ ซึ่งกรมปศุสัตว์จะต้องมีการสแกนพื้นที่เพื่อตรวจสอบเบื้องต้นว่ามีความปลอดภัยหรือมีความเสี่ยงต่อเกษตรกรหรือไม่ จากนั้นจะมีการคัดกรองตัวเกษตรกร พร้อมกับตรวจสอบสภาพความพร้อมและความเหมาะสมของฟาร์มในการยกระดับมาตรฐานฟาร์มให้มีความปลอดภัย ด้านการควบคุมโรคที่สูงขึ้น เช่น GFM หรือ GAP กรมปศุสัตว์จึงจะสามารถอนุญาตให้เกษตรกรกลับเข้าสู่อาชีพในครั้งต่อไปได้

รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จำนวนผู้เลี้ยงสุกรรายเล็กและรายย่อยทั้งประเทศมีรวมกันกว่า 185,000 ราย โดยภาคอีสานมีผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยถึงประมาณ 77,000 ราย ขณะที่ค่าเฉลี่ยอัตราการบริโภคเนื้อสุกรของคนไทยอยู่ที่ 20-22 กิโลกรัม/คน/ปี ทำให้กระทรวงเกษตรฯ มีแนวทางที่จะส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรให้กับเกษตรที่มีความสนใจ โดยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินโครงการ “สานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกร”

โดยการปล่อยสินเชื่อสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตร หรืออาชีพนอกภาคเกษตร หรือการลงทุนค้าขาย เพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือน เน้นอาชีพที่มีตลาดรองรับชัดเจน มีการประกันราคารับซื้อผลผลิต สามารถสร้างรายได้ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน มีผลตอบแทนเบื้องต้นเพียงพอต่อการดำรงชีพ สามารถต่อยอดเป็นอาชีพที่มั่นคงต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าวไม่ได้มีเพียงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรเท่านั้น แต่มีเมนูทางเลือกให้กับเกษตรกรในด้านต่างๆ ทั้งเมนูอาชีพด้านปศุสัตว์ โดยสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงโคขุน สุกรขุน ไก่ไข่ จิ้งหรีด เป็ดไข่ และแพะขุน เมนูอาชีพด้านพืช สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกฟักทอง ฟักเขียว กระชายขาว และข้าวโพด และเมนูอาชีพด้านประมง สนับสนุนให้มีการเลี้ยงปลาตะเพียน ปลาทับทิม ปลาดุก และกุ้ง

หากเกษตรกรรายใดสนใจสามารถยื่นความประสงค์ขอกู้ตามโครงการได้ 2 ช่องทาง ได้แก่

1) ยื่นขอกู้เงินที่ธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาที่ตนเองมีภูมิลำเนาหรือที่ตั้งของโครงการ (Walk In) และ

2) ให้ผู้ขอกู้ลงทะเบียนยื่นขอสินเชื่อผ่านช่องทาง Line Official : BAAC Family และนัดหมายผู้ขอกู้ผ่านระบบนัดหมาย โดยวงเงินกูสูงสุดรายละไม่เกิน 100,000 บาท แต่ต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายและหรือค่าลงทุนจริงของลูกค้าแต่ละราย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top