ยอดใช้น้ำมันภาพรวมปี 64 ลดลง 3.5%ตามน้ำมันอากาศยาน-เบนซิน-ดีเซล เว้น LPG เพิ่ม

น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันปี 64 (ม.ค.-ธ.ค.) ลดลงเมื่อเทียบกับปี 63 ราว 3.5% โดยการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลง 36.0% กลุ่มเบนซินลดลง 8.5% กลุ่มดีเซลลดลง 3.5% น้ำมันก๊าดลดลง 6.3% อย่างไรก็ตามการใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 15.6% LPG เพิ่มขึ้น 7.4% สำหรับการใช้ NGV ลดลง 19.1%

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน ปี 64 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.03 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากปี 2563 (ลดลง 8.5%) โดยปริมาณการใช้กลุ่มแก๊สโซฮอล์ลดลงมาอยู่ที่ 28.37 ล้านลิตร/วัน (ลดลง 8.3%) การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ อี20 และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 6.90 ล้านลิตร/วัน 14.90 ล้านลิตร/วัน 5.79 ล้านลิตร/วัน และ 0.78 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ สำหรับการใช้น้ำมันเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.66 ล้านลิตร/วัน

เมื่อพิจารณาภาพรวมตลอดทั้งปี พบว่า การใช้กลุ่มเบนซินในเดือนม.ค. อยู่ในระดับต่ำที่ 27.31 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าว มีทิศทางดีขึ้น การเดินทางและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงเริ่มกลับสู่ภาวะปกติในเดือนก.พ.-มี.ค. โดยการใช้กลุ่มเบนซินอยู่ที่ 32-34 ล้านลิตร/วัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมาสู่ระดับรุนแรงในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ภาครัฐจึงมีมาตรการจำกัดการเดินทางและปิดสถานประกอบการบางประเภทในช่วงกลางปี ส่งผลให้การใช้กลุ่มเบนซินแตะระดับต่ำสุดที่ 24.52 ล้านลิตร/วัน ในเดือนส.ค. สถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วงไตรมาส 4 มีทิศทางดีขึ้นและประชาชนได้รับวัคซีนมากขึ้น ประกอบกับการคลายล็อกดาวน์ นโยบายเปิดประเทศ และการกระตุ้นเศรษฐกิจ ความต้องการใช้น้ำมันจึงเติบโตอีกครั้ง โดยการใช้กลุ่มเบนซินแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ 33.71 ล้านลิตร/วัน ในเดือนธ.ค.

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล ปี 64 เฉลี่ยอยู่ที่ 63.13 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากปี 63 (ลดลง 3.5%) สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 การใช้ลดลงมาอยู่ที่ 39.84 ล้านลิตร/วัน (ลดลง 9.0%) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค.62 ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.25 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 มีปริมาณการใช้ 0.99 ล้านลิตร/วัน

ภาพรวมการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลปี 64 มีความผันผวนอย่างมาก โดยในช่วงต้นปีปริมาณการใช้ใกล้เคียงกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างจำกัด ส่งผลให้ในช่วงกลางปีการใช้กลุ่มดีเซลอยู่ในระดับต่ำและแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายปีที่ 53.27 ล้านลิตร/วัน ในเดือนสิงหาคม ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวอย่างมากในช่วงปลายปี โดยแตะระดับสูงสุดที่ 77.01 ล้านลิตร/วัน ในเดือนธ.ค. ทั้งนี้ สัดส่วนการใช้ B7 B10 และB20 ในดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ 92.3%, 7.3% และ 0.4% ตามลำดับการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.67 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากปี 2563 (ลดลง 36.0%) เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยปริมาณการใช้อยู่ในระดับต่ำตลอดทั้งปีที่ 4-5 ล้านลิตร/วัน

อย่างไรก็ตามการใช้ Jet A1 ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนพ.ย.-ธ.ค. หลังการปรับลดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้าประเทศ และการมีวันหยุดยาวและเทศกาลปีใหม่ โดยการใช้ Jet A1 ในเดือนธ.ค. แตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีที่ 6.76 ล้านลิตร/วัน อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ Jet A1 ได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประกาศห้ามเที่ยวบินจาก 8 ประเทศในแอฟริกาเข้าไทยตั้งแต่ 1 ธ.ค. และ ศูนย์บริหารสถานการร์โควิด-19 (ศบค.) มีมติให้ระงับการลงทะเบียนขอเข้าไทยแบบ Sandbox (ยกเว้นภูเก็ต) และ Test&Go ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 16.52 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากปี 63 (เพิ่มขึ้น 7.4%) เนื่องจากการใช้ในภาคปิโตรเคมีที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.26 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 19.1%) และการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.87 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 11.6%) สำหรับภาคครัวเรือนมีการใช้อยู่ที่ 5.65 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 1.6%) อย่างไรก็ตาม การใช้ในภาคขนส่งลดลงมาอยู่ที่ 1.74 ล้านกก./วัน (ลดลง 14.8%)

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.12 ล้านกก./วัน ลดลงจากปี 63 (ลดลง 19.1) โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับจำนวนสถานีบริการและรถ NGV ที่ลดลง

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงปี 64 เฉลี่ยอยู่ที่ 898,054 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 (เพิ่มขึ้น 0.9%) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 863,232 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น 2.1%) มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60,672 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น 63.0%) สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) ลดลงมาอยู่ที่ 34,822 บาร์เรล/วัน (ลดลง 22.7%) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 2,343 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น 20.4%)

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปปี 64 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ไบโอดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 203,182 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น 9.3%) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 15,141 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น81.7%)

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.พ. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top