วิจัยกสิกรฯ คาดกนง. 9 ก.พ.ยังคงดอกเบี้ย แม้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 9 ก.พ.นี้ กนง. จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโอมิครอนในระดับหนึ่ง แต่คาดว่าผลกระทบจะมีจำกัด และน้อยกว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบาง ท่ามกลางตลาดแรงงานและกำลังซื้อของประชาชนที่ยังคงอ่อนแรง เนื่องจากได้รับผลกระทบที่ยืดเยื้อจากการแพร่ระบาด ขณะที่ สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะยังไม่สามารถกลับสู่ระดับก่อนวิกฤติโควิด-19 ได้ภายในปีนี้ ดังนั้น มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังที่ต่อเนื่อง จึงยังมีความจำเป็นที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังกำลังซื้อของผู้บริโภค และอาจเป็นความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นนั้นเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่ตึงตัวเป็นหลัก ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างตรงจุดเท่าใดนัก อีกทั้งจะยิ่งไปบั่นทอนการบริโภคและการลงทุนไปมากกว่าเดิม

“ดังนั้น คาดว่า กนง.คงจะยังไม่พิจารณาเลือกใช้นโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดกันเงินเฟ้อ ตามทิศทางธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอ นอกจากนี้ กนง. คงจะมีมุมมองว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงได้ในระยะข้างหน้า หากปัญหาในฝั่งอุปทานนั้นคลี่คลายลง ซึ่งแม้ว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงขึ้น แต่กนง. น่าจะยังคงคาดการณ์ว่าระดับเงินเฟ้อของไทยในปีนี้น่าจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของกนง. ที่ 1-3%” บทวิเคราะห์ ระบุ

อย่างไรก็ดี กนง. อาจเผชิญความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะข้างหน้า หากเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น และธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากกว่าที่เคยส่งสัญญาณไว้ ซึ่งอาจส่งให้ค่าเงินบาทเผชิญแรงกดดันให้อยู่ในทิศทางอ่อนค่าได้ ซึ่งหากเฟดยังคงเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้ออย่างมาก และมีความจำเป็นต้องพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่เคยส่งสัญญาณไว้ อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย และกดดันค่าเงินในภูมิภาคและค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางอ่อนค่าได้ ทำให้กนง. ต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางเลือกที่จะต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างประเด็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพด้านการเงินผ่านอัตราแลกเปลี่ยน

โดยหากกนง. พิจารณาคงดอกเบี้ยในระดับต่ำ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะยิ่งไปเร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นผ่านทางต้นทุนสินค้านำเข้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ในทางตรงกันข้าม หากกนง. พิจารณาปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนและเงินเฟ้อในระดับที่เหมาะสม แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะยิ่งไปกดดันอุปสงค์และการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top