PTTEP คาดได้ความชัดเจนโครงการยาดานาไม่เกินกลาง มี.ค.หลังโททาลถอนตัว

นายธนัตถ์ ธำรงศักดิ์สุวิทย์ ผู้จัดการ แผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะจัดการกับเรื่องของแหล่งก๊าซยาดานาในประเทศเมียนมาอย่างไร หลังจาก บริษัท โททาล เอนเนอร์ยี่ส์ อีพี เมียนมา ขอถอนตัวจากการร่วมทุน คาดว่าในช่วงต้นเดือนหรือกลางเดือน มี.ค.65 จะสามารถให้ข้อมูลชัดเจนได้

อนึ่ง โททาล เอนเนอร์ยี่ส์ อีพี เมียนมา เป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุนโครงการยาดานา ประเทศเมียนมา ถือหุ้น 31.2% ขอถอนตัวจากการเป็นผู้ร่วมทุนและผู้ดำเนินการ (Operator) ในโครงการดังกล่าว และในบริษัท Moattama Gas Transportation Company (MGTC) ซึ่งดำเนินธุรกิจท่อส่งก๊าซจากโครงการในเมียนมา เมื่อวันที่ 21 ม.ค.65 แต่จะยังดำเนินงานไปอีก 6 เดือนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่น

สำหรับการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้ คาดการณ์ปริมาณการขายเฉลี่ยทั้งปี 65 ที่ 4.67 แสนบาร์เรล/วัน เติบโตจากปี 64 ที่มีปริมาณขาย 4.16 แสนบาร์เรล/วัน ขณะที่ไตรมาส 1/65 คาดปริมาณ 4.36 แสนบาร์เรล/วัน โดยปีนี้จะรับรู้ยอดขายเต็มปีเป็นปีแรกจากโครงการมาเลเซีย แปลงเอช และโครงการโอมาน แปลง 61 รวมถึงการเริ่มผลิตปิโตรเลียมของโครงการจี 1/61 และโครงการ แอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ที่คาดว่าจะเริ่มในช่วงต้นปี 65

ขณะที่บริษัทมองราคาน้ำมันดิบปีนี้จะยังอยู่ในระดับสูง, ราคาก๊าซธรรมชาติจะอยู่ที่ 5.9 เหรียญฯ/ล้านบีทียู รวมถึงจะรักษาต้นทุนต่อหน่วยให้อยู่ที่ 27-28 เหรียญฯ/บาร์เรล ลดลงจากปีก่อนจากการบริหารจัดการต้นทุนดีขึ้น และจะยังรักษาความสามารถการทำกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ทั้งปีให้อยู่ที่ 70-75%

ทั้งนี้ PTTEP วางงบลงทุนปี 65 ไว้ที่ 5,666 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 190,036 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure หรือ CAPEX) จำนวน 3,217 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 107,895 ล้านบาท และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure หรือ OPEX) จำนวน 2,449 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 82,141 ล้านบาท

โดยหลักจะใช้เพื่อรักษาปริมาณการผลิตจากโครงการผลิตหลัก ได้แก่ โครงการบงกช โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 โครงการมาเลเซีย โครงการโอมาน แปลง 61 และโครงการซอติก้า รวมถึง การเตรียมความพร้อมขั้นสุดท้ายในการเป็นผู้ดำเนินการและการเริ่มต้นสัญญาแบ่งปันผลผลิตของโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) และ จี 2/61 (แหล่งบงกช) คาดจะใช้เงินลงทุนจำนวน 2,494 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 83,661 ล้านบาท

และรองรับโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ได้แก่ โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน โครงการมาเลเซีย ซาราวัก เอสเค 410 บี ซึ่งประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมประเมินผลแหล่งลัง เลอบาห์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ (ระยะที่ 2) ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผน โดยจะใช้เงินลงทุนราว 457 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 15,312 ล้านบาท

ส่วนการสำรวจเพื่อค้นหาทรัพยากร รองรับการเติบโตในระยะยาว คาดใช้งบลงทุนราว 288 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นการเจาะหลุมสำรวจและหลุมประเมินผลสำหรับโครงการสำรวจในต่างประเทศ รวม 21 หลุม แบ่งเป็น 14 หลุม ในประเทศมาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเม็กซิโก รวมถึงในประเทศไทย จำนวน 4 หลุม เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.พ. 65)

Tags: , , ,
Back to Top