อนุสรณ์ แนะคิดให้รอบคอบกรณีนำเงินชราภาพมาใช้ก่อน ห่วงกระทบกองทุนประกันสังคมระยะยาว

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม และอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงข้อเสนอให้นำเงินจากกองทุนชราภาพ ออกมาใช้ก่อน และให้เลือกรับบำเหน็จแทนบำนาญได้ รวมถึงสามารถขอกู้จากกองทุนได้ ว่า ข้อเสนอเหล่านี้ เป็นข้อเสนอของผู้ประกันตนและผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อย ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ บางคนแม้ได้เงินจากกองทุนประกันการว่างงาน สวัสดิการรวมทั้งเงินช่วยเหลือจากรัฐแล้วก็ยังไม่เพียงพอ จึงขอเลือกรับบำเหน็จแทนบำนาญเมื่ออายุครบ 55 ปี ขอนำเงินจากองทุนชราภาพมาใช้ก่อน และขอกู้จากกองทุน

“ข้อเสนอดังกล่าว เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น การเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกันตนในการใช้เงินกองทุนชราภาพตามข้อเรียกร้อง อาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่เหมาะสมในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจสำหรับผู้ประกันตนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าอย่างหนัก แต่จะก่อให้เกิดปัญหาระยะยาวติดตามมาไม่น้อย” นายอนุสรณ์ กล่าว

พร้อมมองว่า การตัดสินใจให้รับบำเหน็จได้ ให้กู้ได้ ขอคืนได้นั้น เป็นการเปลี่ยนหลักการของกองทุนชราภาพประกันสังคม และอาจส่งผลต่อความยั่งยืนทางการเงินของกองทุนได้ คาดว่าเงินอาจหมดกองทุนภายใน 30-40 ปีแทนที่จะเป็น 75 ปี กองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมนี้ ออกแบบมาเพื่อรับมือและลดความเสี่ยง หากสมาชิกกองทุนประกันสังคมมีชีวิตอยู่ยืนยาวกว่าเงินที่เก็บออมไว้ และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาสังคมชราภาพของไทย ตามหลักการต้องการเป็นหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงวัยมีบำนาญไว้ใช้จ่ายตลอดชั่วอายุขัย

“ในหลายประเทศ แม้มีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ก็จะไม่ยอมให้จ่ายเป็นบำเหน็จ เพราะโดยหลักการกองทุนประกันชราภาพแล้วต้องการให้เป็นหลักประกันรายได้ไปตลอดชีวิต มีบางประเทศให้รับบำเหน็จได้ แต่ผู้ประกันตนก็มักใช้เงินหมดภายในเวลาไม่กี่ปี และไม่มีหลักประกันรายได้หลังจากนั้น และต้องกลับมาเป็นภาระของสังคมและรัฐในที่สุด” นายอนุสรณ์กล่าว

ส่วนกรณีการขอคืนเงินกองทุนชราภาพนั้น ควรใช้มีวิธีขยายสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงานสำหรับผู้เดือดร้อนทางเศรษฐกิจจะดีกว่า หรือรัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่มีรายได้น้อย การดึงเงินจากกองทุนประกันชราภาพไปใช้ เพื่อลดปัญหาทางงบประมาณหรือการก่อหนี้เพิ่มของรัฐเฉพาะหน้า แต่จะสร้างปัญหาระยะยาวติดตามมา ส่วนการขอกู้จากกองทุนหรือนำเงินที่สะสมไว้มาเป็นหลักประกันนั้น ธนาคารพาณิชย์อาจจะลังเลปล่อยกู้หรือไม่ เพราะเงินสมทบก็คล้ายการจ่ายค่าเบี้ยประกันเพื่อซื้อบริการไปแล้ว หากเอาเงินสมทบมาขอกู้เงินความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น ยกเว้นธนาคารของรัฐที่รัฐบาลสั่งให้สนองนโยบายหรืออีกทางหนึ่ง สำนักงานประกันสังคมต้องจัดตั้ง “ธนาคารของกองทุนประกันสังคม” ขึ้นมา

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ขอให้กระทรวงแรงงานและรัฐบาล พิจารณาข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และส่งผลกระทบระยะยาวต่อกองทุนประกันสังคมด้วยความรอบคอบ สิ่งที่จะทำให้กองทุนประกันสังคมมีความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว คือ การบริหารจัดการเงินลงทุนในกองทุนอย่างโปร่งใสและได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ผลการดำเนินงานของการบริหารเงินลงทุนของกองทุนประกันสังคมมีค่าเฉลี่ยดีกว่าเกณฑ์ผลตอบแทนของตลาดสำหรับกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนและข้อกำหนดในการลงทุนแบบเดียวกันมาอย่างต่อเนื่องซึ่งถือเป็นความสำเร็จ แต่การทบทวนนโยบายการลงทุนและประเมินผลบรรดาผู้จัดการลงทุนที่กองทุนประกันสังคมอย่างสม่ำเสมอ มีความสำคัญอย่างมากในช่วงตลาดการเงินผันผวนและเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม กองทุนประกันสังคมควรศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนกองทุนประกันสังคมจากหน่วยราชการมาเป็น องค์กรอิสระที่เป็นองค์กรรัฐที่ไม่ใช่ราชการแบบ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัยพ์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือองค์กรแบบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และการพัฒนาสิทธิประโยชน์ได้มีการเสนอให้มีเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงความยั่งยืนทางการเงินควบคู่ไปด้วย เช่น การพัฒนาสิทธิประโยชน์ชราภาพ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงาน การขยายระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย การลดเงินสมทบช่วงโควิด-19 การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรม การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยมาตรา 40 การเพิ่มสิทธิประโยชน์และการออมเงินโดยสมัครใจมาตรา 33 และ 39 เป็นต้น

โดยรวมแล้วการดำเนินการที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มสวัสดิการและลดเงินสมทบให้กับผู้ประกับตนมากขึ้น ฉะนั้นจึงมีเงินไหลออกจากเงินกองทุนมากกว่าเงินไหลเข้า ด้านเงินไหลเข้านั้น กองทุนประกันสังคมก็ได้ขยายฐานสมาชิกเพิ่มขึ้น ซึ่งนายอนุสรณ์ เห็นว่า กองทุนประกันสังคมควรขยายฐานในเชิงรุกมากกว่านี้ ไปยังกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบอาชีพอิสระ เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับความคุ้มครองด้านสวัสดิการพื้นฐานในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ และนอกจากนี้ยังมีเงินไหลเข้ากองทุนจากการจ่ายเงินสมทบอีกด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.พ. 65)

Tags: , , ,
Back to Top