ศบค.ชุดใหญ่ 23 ก.พ.จ่อถกปรับมาตรการคุมโควิดในการเดินทางเข้าประเทศ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะเป็นประธานการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ผ่านระบบ Video Conference ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.พ.) โดยที่ประชุม ศบค.จะพิจารณาการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร แผนการให้บริการวัคซีน โดยจะเน้นเรื่องความปลอดภัยของคนไทยเป็นสำคัญ รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย

ในขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังเตือนภัยโควิด-19 เป็นระดับ 4 ทั่วประเทศ โดยขอความร่วมมือประชาชนงดเข้าสถานที่เสี่ยง เลี่ยงการรวมกลุ่ม ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด ดังนั้นหากมีความเสี่ยงขอให้กักตัวเอง โดยมาตรการในการควบคุมโรคยังมีความสำคัญ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังยืนยันถึงแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ว่า ประชาชนสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการได้

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการปอดบวม มีไข้สูง อยู่ในเกณฑ์สีแดงหรือภาวะการเข้าข่าย ฉุกเฉิน ก็ยังสามารถเข้ารักษา ยังหน่วยบริการนอกระบบตามหลักเดิมของ UCEP ที่มีอยู่เดิมได้

ทั้งนี้ สิทธิการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือ UCEP คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤตและสามารถคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง สำหรับประกาศยกเลิกการกำหนดให้ผู้ “ติดโควิด” เป็น “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” หรือ UCEP แล้วให้ไปใช้สิทธิตามหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคล จะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคมนี้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันพรุ่งนี้ จะมีเรื่องของมาตรการการเข้าประเทศ จากเดิมที่ต้องให้ตรวจ RT-PCR ในวันที่ 5 ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกันอยู่ แต่น่าจะมีแนวโน้มลดการตรวจ RT-PCR ในวันที่ 5 เพราะดูแล้วไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร และยืนยันการควบคุมโรคยังดีอยู่ และการติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ ไม่ได้มาจากต่างประเทศ

“การล็อกดาวน์ขณะนี้ ขอให้ใจเย็นๆ ประเทศอื่นทั่วโลก ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงกว่าประเทศไทย แต่เขายิ่งผ่อนคลาย เราก็หาทางที่ดีที่สุด หาทางเดินสายกลาง โอมิครอนติดง่าย หายเร็ว และความรุนแรงของโรคไม่เหมือนสายพันธุ์อื่น แม้จะมีการแตกสายพันธุ์ย่อย แต่ก็ไม่รุนแรง” รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ระบุ

นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้ยกระดับเตือนภัยโควิดระดับ 4 เพราะอยู่ในระดับ 4 มานานแล้ว เมื่อเดือนที่แล้วที่มีการประกาศจากระดับ 5 ลงมาเหลือระดับ 4 ซึ่งระดับ 4 เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้มีการเว้นระยะห่าง ทำงานที่บ้าน ลดการสังสรรค์ปาร์ตี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top