In Focus: สหรัฐ-ยุโรปเดินเกมคว่ำบาตรพลังงาน ตัดแขนตัดขารัสเซียหรือทำร้ายตัวเอง?

หลังจากที่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา แดนหมีขาวก็ถูกทั่วโลกรุมประณามและคว่ำบาตรอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการอายัดทรัพย์สินของบุคคลสำคัญ ทั้งผู้นำประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐ มหาเศรษฐี และผู้บริหารระดับสูงของวิสาหกิจรายใหญ่ รวมถึงการคว่ำบาตรสถาบันการเงินของรัสเซีย ที่หนักสุดคือการประกาศตัดธนาคารรัสเซียหลายแห่งออกจากระบบ SWIFT ที่เป็นตัวกลางสำหรับการโอนเงินข้ามประเทศ ทำให้ธนาคารในรัสเซียไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารของประเทศอื่น ๆ ได้

นอกจากนี้ บรรดาบริษัทเอกชนก็เข้ามาร่วมวงด้วย เช่น มาสเตอร์การ์ดและวีซ่า ที่ระงับการให้บริการเครือข่ายชำระเงินกับสถาบันการเงินของรัสเซียหลายแห่ง ขณะที่วอลท์ ดิสนีย์, วอร์เนอร์ บราเธอร์ส, โซนี่ พิกเจอร์ และเน็ตฟลิกซ์ ได้ระงับการนำภาพยนตร์ออกฉายในรัสเซีย แม้แต่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้องค์กรกีฬาทั่วโลกตัดสิทธิ์นักกีฬาและเจ้าหน้าที่จากรัสเซียในการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ

ขณะที่สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) มีมติตัดสิทธิ์รัสเซียจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก นัดชิงชนะเลิศ และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ตัดสิทธิ์รัสเซียจากการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบเพลย์ออฟกับโปแลนด์ในวันที่ 24 มี.ค. เรียกได้ว่ารัสเซียถูก “บี้” และ “แบน” จากทุกทิศทุกทาง จนกลายเป็นชาติที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุดในโลก แซงหน้าอิหร่านและซีเรียไปเป็นที่เรียบร้อย แต่ก็ดูเหมือนรัสเซียจะไม่ยี่หระ และตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟันมาโดยตลอด จนในที่สุดสหรัฐและพันธมิตรได้เริ่มเดินเกมคว่ำบาตรพลังงานของรัสเซีย ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญ โดยรัสเซียมีรายได้จากน้ำมันและก๊าซอยู่ที่ 9.1 ล้านล้านรูเบิล (1.19 แสนล้านดอลลาร์) ในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 36% ของงบประมาณประเทศ

หยุดไม่ได้…ขาดใจ

เมื่อวันอาทิตย์ (6 มี.ค.) นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ให้สัมภาษณ์ว่า สหรัฐและชาติพันธมิตรในยุโรปกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะระงับการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความมั่นใจว่า อุปทานน้ำมันยังคงมีเพียงพอรองรับความต้องการในตลาดโลก ขณะที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวว่า สภาฯ กำลังศึกษาการออกกฎหมายห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย สหรัฐเล่นเกมนี้ได้เพราะนำเข้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์กลั่นจากรัสเซียเพียง 8% และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาก๊าซของรัสเซีย แต่ชาติพันธมิตรในยุโรปต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียในระดับที่ขาดไม่ได้

รัสเซียสร้างเครือข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั่วยุโรปมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2500 นับตั้งแต่นั้นมา สหรัฐได้เตือนชาติพันธมิตรในยุโรปมาตลอดว่ายิ่งพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียมากเท่าใด ยุโรปก็ยิ่งเปราะบางมากขึ้นเท่านั้น บรรดาผู้นำยุโรปเองก็ตระหนักถึงจุดอ่อนนี้ จึงพยายามลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียมานานหลายปีแล้ว ถึงกระนั้นสหภาพยุโรปก็ยังคงเป็นผู้ซื้อก๊าซรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย โดยบรูเกล (Bruegel) หน่วยงานมันสมองชั้นนำของยุโรป ระบุว่า สหภาพยุโรปต้องพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียราว 40% ของความต้องการใช้ก๊าซทั้งหมด และแนวโน้มการพึ่งพาก็เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่านางคาดรี ซิมสัน คณะกรรมาธิการด้านพลังงานของสหภาพยุโรป จะระบุว่า “เราไม่สามารถปล่อยให้ประเทศที่สามเข้ามามีอำนาจในการบั่นทอนเสถียรภาพของตลาดพลังงาน หรือมีอิทธิพลในการตัดสินใจด้านพลังงานของเรา” แต่คำพูดดังกล่าวปฏิบัติได้ยากมากเมื่อพิจารณาจากสภาพความเป็นจริง

แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม

นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า “เราไม่อาจพึ่งพิงซัพพลายเออร์ที่คุกคามเราอย่างเปิดเผย จึงต้องมองหาซัพพลายเออร์รายอื่น” อันที่จริงแล้ว นอกจากรัสเซียก็ยังมีซัพพลายเออร์รายอื่นที่อยู่ใกล้สหภาพยุโรป เช่น นอร์เวย์ แอลจีเรีย และอาเซอร์ไบจาน แต่ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากพอต่อความต้องการของสหภาพยุโรป หรือหากสหภาพยุโรปหันไปสั่งก๊าซจากประเทศที่อยู่ไกลออกไปก็ต้องขนส่งทางเรือ ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับการซื้อก๊าซจากรัสเซียที่ส่งผ่านทางท่อก๊าซ โดยบรูเกลระบุว่า การเติมก๊าซในคลังของยุโรปให้เพียงพอก่อนถึงฤดูหนาวครั้งต่อไปอาจต้องใช้งบประมาณอย่างน้อย 7 หมื่นล้านยูโร ณ ราคาปัจจุบัน เทียบกับ 1.2 หมื่นล้านยูโรในปีที่แล้ว ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปที่เดือดร้อนจากภาวะเงินเฟ้ออยู่แล้วในขณะนี้

สหรัฐได้เจรจากับกาตาร์เรื่องการจัดหาก๊าซให้สหภาพยุโรปหากมีการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย แต่กาตาร์ระบุว่าไม่สามารถทำได้ เพราะต้องมีการลงทุนมหาศาลในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และต้องมีการทำสัญญาระยะยาวในการจัดหาก๊าซปริมาณมากขนาดนั้น แล้วแอฟริกาซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งก๊าซขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จะสามารถตอบสนองความต้องการของยุโรปได้หรือไม่ หลายประเทศในแอฟริกามองว่ากรณีรัสเซียบุกยูเครนถือเป็นโอกาสสำคัญในการเปิดตลาดใหม่นอกแอฟริกา เช่น ไนจีเรีย ผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่ที่สุดในแอฟริกา แสดงเจตจำนงว่าต้องการสร้างท่อส่งก๊าซไปยังแอลจีเรียและเชื่อมต่อไปยังยุโรป ขณะที่แทนซาเนีย ซึ่งมีแหล่งก๊าซขนาดใหญ่อันดับ 6 ในแอฟริกา กำลังประสานงานกับบริษัทเชลล์เพื่อส่งออกก๊าซไปยังยุโรป อย่างไรก็ดี ประเทศในแอฟริกาจำนวนมากยังขาดโครงสร้างพื้นฐานในการส่งน้ำมันไปยังยุโรป แม้ว่าจะมีแหล่งก๊าซมหาศาลก็ตาม นอกจากนั้นยังมีปัญหาด้านความมั่นคง โดยมีการโจมตีท่อส่งน้ำมันและก๊าซอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้ล้วนต้องใช้เวลาในการแก้ไข ดังนั้น แอฟริกาคงไม่อาจเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ในสถานการณ์ปัจจุบันทันด่วนเช่นนี้

กลัวที่ไหน

ในการเจรจาสันติภาพรอบที่ 3 ระหว่างคณะตัวแทนของรัสเซียกับยูเครนเมื่อวันจันทร์ (7 มี.ค.) รัสเซียได้เพิ่มเงื่อนไขในการยุติปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครนจากข้อเดียว นั่นคือ ขอให้ยูเครนวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าร่วมนาโต กลายเป็นสี่ข้อ ได้แก่ 1) ยูเครนจะต้องยุติการดำเนินการทางทหาร 2) ยูเครนจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเป็นประเทศเป็นกลาง โดยยูเครนจะต้องปฏิเสธความตั้งใจที่จะเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรใด ๆ 3) ยูเครนจะต้องให้การรับรองว่าไครเมียเป็นดินแดนของรัสเซีย และ 4) ยูเครนจะต้องให้การรับรองว่าสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และลูฮันสก์เป็นรัฐอิสระ ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า รัสเซียไม่ได้สะเทือนกับการขู่คว่ำบาตรพลังงาน เพราะถึงแม้ว่ารัสเซียอาจสูญเสียรายได้มหาศาล แต่ก็ยังหล่อเลี้ยงประชาชนในประเทศได้เพราะมีน้ำมันและก๊าซมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในขณะที่ยุโรปต้องเผชิญวิกฤตพลังงานครั้งรุนแรงอย่างแน่นอน เพราะตอนนี้ราคาก๊าซในยุโรปก็พุ่งทำนิวไฮต่อเนื่องอยู่แล้วจากการคว่ำบาตรรัสเซียในด้านอื่น ๆ โดยที่ยังไม่ได้แตะต้องเรื่องพลังงานด้วยซ้ำ ดังนั้น การคว่ำบาตรพลังงานเพื่อหวังตัดท่อน้ำเลี้ยงของรัสเซีย จะกลายเป็นการตัดท่อก๊าซหล่อเลี้ยงยุโรปเสียเอง และนายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ก็ออกมาเตือนแล้วว่า บรรดาประเทศตะวันตกอาจเผชิญกับราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 300 ดอลลาร์/บาร์เรล และท่อส่งก๊าซหลักระหว่างรัสเซีย-เยอรมนีอาจถูกปิดลง หากรัฐบาลชาติตะวันตกยังคงเดินหน้าแผนการระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย

ล่าสุด (8 มี.ค.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ประกาศคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันและพลังงานจากรัสเซีย ขณะที่นางเจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐ ระบุว่า สหรัฐจะไม่กดดันให้เหล่าพันธมิตรออกคำสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันและพลังงานของรัสเซียเช่นเดียวกันกับสหรัฐ ส่วนทางด้านนายอามอส โฮคสไตน์ ที่ปรึกษาระดับอาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เปิดเผยว่า สหรัฐและประเทศต่าง ๆ จะพิจารณาระบายน้ำมันจากคลังสำรองเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น เพื่อลดผลกระทบของต้นทุนเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในวันพฤหัสบดี (10 มี.ค.) และศุกร์ (11 มี.ค.) บรรดาผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะจัดการประชุมเพื่อประกาศความเห็นชอบเรื่องลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินจากรัสเซีย แม้ว่าในความเป็นจริงนั้น สหภาพยุโรปจะนำเข้าก๊าซมากถึง 45%, น้ำมันราว 1 ใน 3 และถ่านหินเกือบครึ่งหนึ่งจากรัสเซีย ก็คงต้องจับตาดูว่าท่าทีของยุโรปจะแข็งกร้าวได้แค่ไหนในเมื่อยังต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมากขนาดนี้ แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ดูเหมือนว่ารัสเซียจะไม่สะทกสะท้าน มิหนำซ้ำรองนายกรัฐมนตรีรัสเซียยังเตือนว่า “นักการเมืองยุโรปควรเตือนพลเรือนของตนเองว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากจะปฏิเสธพลังงานจากรัสเซีย ก็ทำได้เลย เราพร้อมรับมือกับสถานการณ์นี้ และเรารู้ว่าเราจะปรับทิศทางการส่งออกพลังงานไปยังที่ใด”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top