เครือข่ายผู้รับผลกระทบฯ ร้องฝ่ายค้านเบรครัฐบาลเปิดเหมืองทองคำรอบใหม่

เครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตร-เพชรบูรณ์ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ให้เพิกถอนการต่ออายุประทานบัตรเหมืองและใบประกอบโลหะกรรม รวมถึงระงับการเปิดพื้นที่สัมปทานแปลงใหม่เอาไว้ก่อน จนกว่าจะจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ (EHIA)

น.ส.พรีมสินี สินทรธรรมทัช ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตัวแทนจากเครือข่ายฯ กล่าวว่า ได้นำข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพและด้านอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับประชาชน ที่อยู่ในพื้นที่รอบเหมืองทองคิงส์เกตมาให้กับพรรคฝ่ายค้าน เพื่อนำไปใช้ประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพ.ค.นี้ และให้หาทางช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

เนื่องจากตั้งแต่เปิดเหมืองทองในปี 44 ก่อนมีคำสั่งให้หยุดการทำเหมืองในวันที่ 1 ม.ค.60 ชาวบ้านที่อยู่โดยรอบของพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ วิถีชีวิต และการประกอบอาชีพ รวมทั้งผลกระทบจากการต่อสู้ดำเนินคดี ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ทั้งนี้เมื่อเดือน พ.ค. 57 ตนและชาวบ้านในพื้นที่รอบเหมือง ได้เคยยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มีการส่งทีมเจ้าหน้าที่มาเก็บตัวอย่างทั้งปัสสาวะ เลือด น้ำ และดิน โดย รพ.รามาธิบดี รายงานผลการตรวจด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำ 731 คน พบโลหะหนักในร่างกายเกินค่าปกติ 401 ราย นอกจากนี้ ชาวบ้านยังตรวจเลือดอีกหลายครั้ง ซึ่งผลการตรวจเลือดยังพบโลหะหนักค่าเกินปกติในร่างกายเช่นเดิม

ดังนั้น เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้เพิกถอนการต่ออายุประทานบัตรเหมืองและใบประกอบโลหะกรรม รวมถึงระงับการเปิดพื้นที่สัมปทานแปลงใหม่เอาไว้ก่อน จนกว่าจะจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ (EHIA) ทั้งในส่วนของเหมืองแร่ โรงประกอบโลหะกรรม รวมถึงระงับการเปิดพื้นที่สัมปทานแปลงใหม่เอาไว้ก่อน จนกว่าจะดำเนินการ ดังนี้

1. จัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ (EHIA) ทั้งในส่วนของเหมืองแร่และโรงประกอบโลหะกรรม

2. ให้ตรวจสุขภาพของประชาชนโดยรอบพื้นที่อย่างกว้างขวาง ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อหาสารพิษและโลหะหนักที่สัมพันธ์กับการทำเหมืองทองคำ เพื่อเป็นฐานข้อมูลก่อนจะอนุญาตให้กลับมาเปิดเหมืองใหม่

3. จัดทำพื้นที่แนวกันชนและพื้นที่ปลอดภัยจากผลกระทบด้านต่างๆ โดยเหมืองจะต้องอยู่ห่างจากชุมชนในรัศมีไม่ต่ำกว่า 5 กิโลเมตร

4. สอบวินัยและดำเนินคดีต่ออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และข้าราชการ กพร. ตามประมวลกฎหมายอาญา 157 และฐานความผิดอื่นๆ ก่อน โทษฐานที่อนุญาตประทานบัตร ใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม อาชญาบัตรพิเศษและใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ให้บริษัทกลับมาเปิดเหมืองใหม่ โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ โดยเฉพาะกรณีไม่จำแนกแยกแยะเขตแหล่งแร่ เพื่อการทำเหมืองออกจากพื้นที่ที่ควรสงวนหวงห้ามไว้ตามมาตรา 17 วรรคสี่ และมาตราที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

5. นำข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมรับข้อร้องเรียน เพื่อส่งต่อปัญหาไปยังกรรมาธิการ(กมธ.) ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ และจะนำปัญหาดังกล่าวไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top