สปสช. ปรับบทบาทสายด่วน 1330 คัดกรองผู้ป่วยโควิดตามแนวทางใหม่ของ สธ.

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงสถานการณ์ของสายด่วน 1330 ซึ่งก่อนหน้านี้ประสบปัญหาประชาชนโทรไม่ติด หรือไม่มีคนรับสาย (Abandon Call) เนื่องจากมีปริมาณการโทรเข้ามาพร้อมกันจำนวนมาก สูงสุดถึงกว่า 70,000 สายต่อวัน ทำให้ประชาชนที่ต้องการโทรเข้ามาติดต่อเกี่ยวกับสิทธิบัตรทอง สอบถามข้อมูล หรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการลงทะเบียนเข้าระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation: HI) บางส่วนไม่สามารถโทรเข้ามา

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ Abandon Call ทยอยเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนเกิน 20% ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. และมีจุดพีคที่ 57.49% ในวันที่ 26 ก.พ. สาเหตุนอกจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นแล้วกว่า 50% ที่โทรเข้ามา ยังมาจากผู้ที่ลงทะเบียนเข้าระบบ HI แล้ว แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับจากหน่วยบริการ จึงเกิดความกังวลและโทรกลับเข้ามาเพื่อสอบถามความคืบหน้า

อย่างไรก็ดี สปสช. ได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีต่างๆ เช่น เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่จิตอาสาในการตอบโทรศัพท์ รับการสนับสนุน Call Center จากหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาช่วยรับสาย ประชาสัมพันธ์ให้แจ้งข้อมูลผ่านช่องทาง Non-voice เช่น ไลน์ออฟฟิเชียล @nhso รวมถึงนโยบายใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ปรับเป็นการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน หรือ เจอ แจก จบ ดังนั้นสถานการณ์สาย Abandon Call จึงมีสัดส่วนลดลงเรื่อยๆ มาอยู่ในระดับต่ำกว่า 20% ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. และเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า จากการปรับแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งแนวทางผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านหรือ เจอ แจก จบ และการปรับ UCEP COVID เป็น UCEP Plus คือ ให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ที่เข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินใช้สิทธิ UCEP หรือรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ทุกที่ สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่เป็นกลุ่มไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย เข้ารักษาตามแนวทาง เจอ แจก จบ

ดังนั้น สปสช. จึงได้ปรับบทบาทสายด่วน 1330 ไม่ได้รับลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบ HI สำหรับผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษาแล้ว แต่จะทำหน้าที่คัดกรองอาการ หากเข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงคือ กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, หัวใจและหลอดเลือด, ไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน น้ำหนักมากกว่า 90 กก., มะเร็ง, เบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง

ทั้งนี้ กรณีเป็นสิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิ สปสช. และสิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สปสช. จะลงทะเบียนเพื่อจับคู่สถานพยาบาลเข้าระบบการรักษาที่บ้านต่อไป ส่วนสิทธิอื่นสามารถติดต่อสายด่วนของแต่ละสิทธิ หรือสถานพยาบาลประจำของตน กรณีไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แนะนำให้ไปรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิรักษา เพื่อเข้ารักษาตามแนวทาง เจอ แจก จบ ต่อไป สำหรับการใช้สิทธิ มีดังนี้

– สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สปสช.) นอกจากไปที่สถานพยาบาลประจำที่ลงทะเบียนไว้ สามารถไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ (ไม่ใช้ใบส่งตัว) หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในเมือง (รพ.สต.), หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึงคลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น

– สิทธิประกันสังคม สามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ รวมถึงสถานพยาบาลรัฐและเอกชนในระบบประกันสังคมทุกแห่ง สอบถามเพิ่มเติมสายด่วนประกันสังคม 1506

– สิทธิข้าราชการ สามารถไปรักษาได้ที่สถานพยาบาลรัฐทุกแห่ง ติดต่อสายด่วนกรมบัญชีกลาง 02-2706400 วันและเวลาราชการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มี.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top