รมว.คลัง มั่นใจตลาดทุนไทยเป็นช่องทางระดมทุนในการขับเคลื่อนฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายพัฒนาตลาดทุนไทย กลไกการพลิกฟื้นเศรษกิจหลังโควิด-19” โดยระบุว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ตลาดทุนไทยได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดความผันผวนมากขึ้น แต่ตลาดทุนไทยยังมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้ดี อีกทั้งแสดงถึงบทบาทหน้าที่ในการเป็นช่องทางการระดมทุนที่มีประสิทธิภาพ และเป็นเสาหลักในการช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน โดยในปี 2564 ขนาดของตลาดหุ้นคิดเป็น 1.2 เท่าของจีดีพี และตลาดตราสารหนี้รวมทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน คิดเป็น 0.9 เท่าของขนาดจีดีพี ขณะเดียวกัน ผู้ลงทุนในตลาดทุนไทยก็มีอัตราเติบโตที่สูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน อีกทั้งยังมีความหลากหลาย โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดทุน

“จะเห็นได้ว่า การเติบโตของตลาดทุนไทยภายใต้วิกฤตินี้ ผนวกกับความท้าทายหลายด้านได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของตลาดทุนไทยต่อทั้งภาคการเงิน และภาคเศรษฐกิจของไทย ซึ่งในระยะหลังที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยยังสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง”

นายอาคม กล่าว

พร้อมระบุว่า สำหรับภาวะของตลาดทุนไทยนั้น จากปี 2563 ถึงปี 2564 ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายระลอก แต่ตลาดหุ้นไทยก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยดัชนี SET Index ปรับตัวขึ้นมาเกือบถึง 50% ในช่วงสิ้นปี 2564 จากจุดต่ำสุดในรอบ 8 ปีเมื่อเดือนมีนาคม 2563 โดยระดับดัชนีดังกล่าวยังสูงกว่าดัชนีสิ้นปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค

นายอาคม กล่าวว่า ในส่วนของอุตสาหกรรม ก็ได้ส่งผลให้เกิดการปรับตัวเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และกลุ่มการเงิน สำหรับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) มีบริษัทออกและเสนอขายแล้วกว่า 40 หลักทรัพย์ ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในรอบ 4 ปี โดยมีมูลค่าการเสนอขายรวมกว่า 1.37 แสนล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน

ซึ่งนอกจาก IPO แล้ว ยังมีบริษัทที่ใช้ช่องทางการระดมทุนจากนวัตกรรมผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล 1 ราย มูลค่าเสนอขายรวมทั้งสิ้น 2,400 ล้านบาท อีกทั้งยังมี SMEs ระดมทุนผ่านการเสนอขายหลักทรัพย์วงแคบ 11 บริษัท มูลค่ารวมประมาณ 90 ล้านบาท และผ่าน crowdfunding 140 บริษัท มูลค่ารวมเกือบ 1,400 ล้านบาท นอกจากนี้ ในปี 2564 บริษัทจดทะเบียนไทยยังได้รับการจัดอันดับใน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) Emerging Market โดยมีจำนวนสูงเป็นอันดับ 2 ด้วย

ด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวัน ตลาดหุ้นไทยยังคงมูลค่าสูงสุดในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์อาเซียน ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 10 โดยในปี 2564 มูลค่าอยู่ที่ 88,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของตราสารหนี้ ภาคเอกชนมีการออกและเสนอขายตราสารหนี้ระยะยาว มูลค่าเกิน 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 50% จากปี 2563 และตราสารหนี้ระยะสั้น มูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ ยังสามารถระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ได้อย่างต่อเนื่องด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

ในส่วนของตราสารหนี้ภาครัฐ กระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านแอปพลิเคชั่น เป๋าตัง หรือเรียกกว่า “วอลเล็ต สะสมบอนด์มั่งคั่ง” (สบม.) เพื่อช่วยส่งเสริมและยกระดับการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ของประชาชนอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง โดยสิ้นปี 2564 มีมูลค่ารวม 30,200 ล้านบาท นอกจากนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนยังได้ออกและเสนอขายตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน โดยสิ้นปี 2564 มีมูลค่าราว 1.5 แสนล้านบาทอีกด้วย แสดงให้เห็นว่า ทุกภาคส่วนมีความตะหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน หรือ ESG มากขึ้น

สำหรับด้านเงินลงทุน ตลาดตราสารหนี้ไทย พบว่าเงินทุนไหลเข้าสุทธิจากผู้ลงทุนต่างชาติกว่า 1.4 แสนล้านบาท โดยสิ้นปี 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรไทยสุงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.02 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.8% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทย ในอีกด้านหนึ่ง คือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล สิ้นปี 2564 ที่ผ่านมามีมูลค่ารวมทั่วโลกอยู่ที่ 2.26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย ณ สิ้นเดือนธ.ค. 64 พบว่ามีผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศไทยเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนบัญชี และยังเป็นกลุ่มหลักในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูงมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ อีกทั้งมีพัฒนาการและการเติบโตที่รวดเร็ว ทั้งด้านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ และมีความท้าทายในด้านการกำกับดูแล

รมว.คลัง กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการพิจารณาและนำแนวทางของประเทศต่างๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อให้กฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติต่างๆ ครอบคลุมทุกส่วน รวมทั้งดูแลผู้ซื้อขายหรือผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.ล.ต. ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด พร้อมทั้งได้หารือร่วมกัน โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองผู้ลงทุน และมีมาตรฐานการประกอบธุรกิจเพื่อให้เกิดการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความปลอดภัย และเป็นไปตามกฎระเบียบสากล โดยมีแนวทางการส่งเสริมแบบสมดุล

หากกล่าวถึงการส่งเสริมและการสนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยนั้น กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ให้กระทบต่อระบบการเงินในประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการและจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้

รมว.คลัง กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าตลาดทุนไทยมีความแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น แม้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งยังมีพัฒนาการที่รวดเร็วด้านดิจิทัล โดยตลาดทุนได้แสดงบทบาทสำคัญอีกครั้งในยามที่เกิดกดดันทางเศรษฐกิจ ด้วยบทบาทและศักยภาพดังกล่าว ตลาดทุนไทยจะสามารถพัฒนาและยกระดับประสิทธิภาพในการเป็นกลไกสำคัญให้กับเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ประเทศไทยกลับมาเติบโตอย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน ครอบคลุมทุกภาคส่วน

กระทรวงการคลังได้วางทิศทางนโยบายในการพัฒนาตลาดทุนไทยไว้ 5 ด้าน โดยมอบหมายให้สำนักงาน ก.ล.ต.เป็นเจ้าภาพร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำนโยบายดังกล่าวมาจัดทำเป็นแผนเพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยสำหรับปี 2565-2570 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อสะท้อนต่อความมุ่งมั่นของรัฐบาลต่อการสนับสนุนพัฒนาการด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ซึ่งรวมถึงการนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของตลาดทุนไทย

นายอาคม กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้พิจารณาผนวกแผนฟินเทค (Fintech) ในแผนพัฒนาตลาดทุนดังกล่าวด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำหลักคิดและกลไกของบล็อกเชนมาปูพื้นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบและติดตามได้ ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงบริการใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงอันจะนำไปสู่ประโยชน์และการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป

นโยบายด้านที่ 1 การส่งเสริมการเข้าถึงการระดมทุนและการลงทุนผ่านกลไกตลาดทุนสำหรับผู้ระดมทุน โดยเฉพาะกลุ่มภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ภาคธุรกิจที่ใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) อุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 กลุ่ม หรือ new S-curve บริษัทเทคโนโลยี SMEs และสตาร์ทอัพ เพื่อเป็นเครื่องมือและเครื่องยนต์ใหม่ในการเพิ่มผลิตภาพ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ทอัพ) นั้น กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการภาษีต่อ ครม. โดยจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพ โดยที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม ทั้งการลงทุนโดยตรง และการลงทุนโดยอ้อมผ่าน Venture Capital ซึ่งครม.ได้เห็นชอบในหลักการ และจะมีผลใช้ในเร็วๆ นี้

นโยบายด้านที่ 2 การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ผ่านการยกระดับมาตรฐานให้ทัดเทียมสากล ยกระดับ Visbility ของตลาดทุนไทยในเวทีระดับโลกและภูมิภาค รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์แลบริการด้านการเงินการลงทุนที่น่าสนใจ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ลงทุน

นโยบายด้านที่ 3 การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับตลาดทุนโดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น Distributed Ledger Technology เพื่อปรับกระบวนการต่างๆ สู่ธุรกรรมอัตโนมัติ และเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยธุรกิจต่างๆ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิผลและโปร่งใสมากขึ้น

นโยบายด้านที่ 4 การพัฒนาตลาดทุนที่ยั่งยืน โดยตลาดทุนไทยจะเป็นกลไกหลักและกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจสู่การนำเอาปัจจัยด้าน ESG มาผนวกกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะเป็นรากฐานเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

นโยบายด้านที่ 5 การสนับสนุนสุขภาพทางการเงินที่ดีของประชาชนในระยะยาว โดยเฉพาะวัยเกษียณและการมีความรู้ความเข้าใจทางการเงิน ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดทุนไทยจะยังคงมุ่งพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินการลงทุนที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง และเป็นประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นายอาคม กล่าวว่า ตลาดทุนไทยจะต้องส่งเสริมให้ผู้ลงทุนรู้ถึงสิทธิและมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ผ่านการให้ความรู้ด้านการเงินการลงทุน ที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถคุ้มครองตนเองได้ หลีกเลี่ยงการถูกหลอก และผ่านการให้ความรู้ด้านดิจิทัลในการใช้บริการตลาดทุน เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดทุนได้อย่างชาญฉลาด และมีทักษะเพื่อตอบโจทย์และบรรลุเป้าหมายการลงทุนของตนเอง

จากนโยบายการพัฒนาของตลาดทุนให้เป็นกลไกสำคัญในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนครอบคลุมทุกภาคส่วนนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ และหวังว่าทุกภาคส่วนจะได้รับประโยชน์ และสามารถเตรียมตัวคว้าโอกาและก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งในปัจจุบันและอนาคต กระทรวงการคลังพร้อมจะดำเนินการอย่างสุดความสามารถเพื่อให้มั่นใจว่าการเติบโต การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งและยั่งยืน รวมทั้งกระจายสู่ทุกภาคส่วนทุกพื้นที่ในประเทศไทยต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top