โพลส.อ.ท.แนะรัฐทบทวนขึ้นค่า Ft-ลดภาษีนำเข้า ช่วยผู้ประกอบการจากวิกฤตโควิด-พลังงาน

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 16 ในเดือนมีนาคม 2565 ภายใต้หัวข้อ “โพล ส.อ.ท. หนุนทบทวนปรับขึ้นค่า Ft” ว่า จากปัจจัยผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่สงครามยังคงยืดเยื้อ ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นและส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตในช่วงนี้ เช่น การทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Float time: Ft) ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต ส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นต้น

สำหรับแนวทางที่ภาครัฐควรดำเนินมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากราคาพลังงานแพง ประกอบด้วย ให้ทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) คิดเป็น 68.30%, ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า 57.60%, สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร/อุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน 55.00% และเพิ่มสิทธิประโยชน์ BOI สำหรับการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทนให้สามารถยกเว้นภาษีได้ 100% ของเงินลงทุน 50.9% โครงการคืนผลประหยัดไฟฟ้าที่ลดได้ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า (Demand Response) 48.5%

ส่วนการแก้ไขปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน และวัตถุดิบแพง ภาครัฐควรดำเนินการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต คิดเป็น 63.90%, ปลดล็อคเงื่อนไขและโควต้าการนำเข้าวัตถุดิบ โดยเฉพาะในวัตถุดิบที่ขาดแคลน 63.00%, ควบคุมและดูแลราคาสินค้าไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาเกินจริง 53.50%, สนับสนุนให้ผู้ส่งออกวัตถุดิบขาดแคลนให้มาจำหน่ายภายในประเทศก่อน 46.70% และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการ เพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ 42.40%

นอกจากนี้ ภาครัฐควรดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคด้านการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ในภูมิภาค เช่น ทางราง, ทางเรือ เป็นต้น 71.10%, เร่งการเชื่อมโยงใบอนุญาต/ใบรับรองต่างๆ ของกลุ่มสินค้าหลัก ในระบบ National Single Window (NSW) 57.60%, ส่งเสริมและพาผู้ประกอบการออกไปเปิดตลาดที่ไทยมีศักยภาพ 57.20%, ผลักดันการเปิดด่านชายแดนที่ถูกปิดช่วงโควิดและยกระดับด่านชายแดน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า 54.60% และผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local currency) ในการค้าขายผ่านชายแดน 27.20%

นอกจากนี้ ภาครัฐควรปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงาน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ด้วยการผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) แทนค่าแรงขั้นต่ำ 71.10%, เร่งพิจารณาเปิดการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้ง 60.00%, ขอให้ภาครัฐหารือกับรัฐบาลประเทศต้นทางในระดับรัฐมนตรี เพื่อเร่งรัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU โดยเร็ว 54.60%, ปรับลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานต่างด่าว เช่น ค่าตรวจโควิด-19 เปลี่ยนการตรวจด้วยวิธี RT-PCR เป็นการตรวจด้วยวิธี ATK, ลดค่าสถานที่กักตัว และลดระยะเวลากักตัว เป็นต้น 51.70% และพิจารณาปรับขั้นตอนการเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU ให้มีความรัดกุม เพื่อป้องกันการแย่งคนงานระหว่างผู้ประกอบการ 49.80%

ในส่วนมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปิดประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ได้แก่ สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว 64.10%, ปรับกระบวนการออกใบอนุญาต Work permit เพื่ออำนวยความสะดวกและดึงแรงงานทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศ 60.40%, ผ่อนปรนเงื่อนไขและเพิ่มมาตรการจูงใจนักลงทุนศักยภาพให้เข้ามาลงทุน และอาศัยในประเทศ (Long Stay) 60.20%, เร่งพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (Capital Gain Tax) สำหรับธุรกิจ Start up ให้มาลงทุนในไทยมากขึ้น 53.00% และยกเลิกมาตรการ Test & Go และอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ 50.00%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top