พาณิชย์เตรียมชง กนศ.-ครม. ไฟเขียวเปิดทางเจรจา FTA ไทย-เอฟตา

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดประชุมภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ เพื่อรับฟังความเห็นต่อการจัดทำกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่ให้กรมฯ เร่งเปิดการเจรจา FTA กับกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อขยายการค้าของไทยไปตลาดโลก

นางอรมน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ได้ข้อสรุปกรอบการเจรจา FTA ไทย – เอฟตา โดยกรมฯ จะนำกรอบดังกล่าว เสนอรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) พิจารณาเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติต่อไป ทั้งนี้ หาก ครม.เห็นชอบ กรมฯ จะประสานแจ้งฝ่ายเอฟตาทราบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-เอฟตา ต่อไป

“เอฟตาเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายการทำ FTA ของไทย เนื่องจากมีนโยบายการค้าเสรี มีกำลังซื้อสูง มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และเป็นนักลงทุนที่สำคัญ ซึ่งการศึกษาเบื้องต้น พบว่า การจัดทำ FTA ไทย-เอฟตา จะช่วยเพิ่มแต้มต่อและโอกาสการแข่งขันของสินค้าและบริการของไทยในตลาดเอฟตา และดึงดูดนักลงทุนจากกลุ่มเอฟตามาไทยในสาขาที่เอฟตามีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะสาขาที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง” นางอรมนเสริม

ทั้งนี้ เอฟตาได้แสดงความสนใจที่จะเปิดการเจรจา FTA กับไทย ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กรมฯ ได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ศึกษาผลกระทบของการจัดทำความตกลงฯ และเผยแพร่ผลการศึกษาบนเว็บไซต์ www.dtn.go.th รวมทั้งได้จัดสัมมนาเผยแพร่ข้อมูลและระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะ

สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ การค้าระหว่างไทยกับเอฟตา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 10,010 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเอฟตา มูลค่า 4,540 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากเอฟตา มูลค่า 5,470 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องสำอาง ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top