“ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่” เตรียมเข้า SET กลางปีนี้หลัง ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง

นายพงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (TGE) หนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 600 ล้านหุ้น หลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับหนึ่งไฟลิ่ง พร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในกลางปีนี้ รุกขยายธุรกิจสู่ผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนชั้นนำ ต่อยอดจุดแข็งความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

บริษัทพร้อมต่อยอดความแข็งแกร่งจากการเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และมีความมั่นคงในด้านวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มุ่งขยายการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สู่การเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนชั้นนำตามแนวทาง Green Energy

ปัจจุบัน TGE ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลจากวัตถุดิบหลักประเภททะลายปาล์มเปล่า เส้นใยปาล์ม ไม้ชิพ รากไม้สับ เป็นต้น และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน โดยมีจุดแข็งที่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรม ได้แก่

1. ความมีประสิทธิผลในด้านต้นทุน (Effectiveness) เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ตั้งอยู่ในอำเภอท่าฉาง จังหวัด สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกปาล์มที่สำคัญของประเทศ ขณะที่กลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงสกัดน้ำมันปาล์ม ซึ่งมี by product เป็นวัตถุดิบนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวลและสามารถรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรในพื้นที่ จึงได้เปรียบด้านวัตถุดิบ ต้นทุนค่าขนส่งและความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงการผลิต ประกอบกับโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งหมดตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันและใช้เทคโนโลยีการผลิตเดียวกัน จึงมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนการเก็บสำรองชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับโรงไฟฟ้า ทำให้บริษัทฯ มีความสามารถในการแข่งขันและความสามารถทำกำไรที่สูงขึ้น

2. ความมีประสิทธิภาพด้านการผลิตและบริหารจัดการ (Efficiency) สามารถผลิตไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงด้วยต้นทุนที่ต่ำ เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทฯ รองรับเชื้อเพลิงได้หลากหลายชนิดทั้งเชื้อเพลิงที่มีความชื้นสูง 40-60% และเผาวัตถุดิบชีวมวลประเภททะลายปาล์มเปล่าได้ 100% ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าโรงไฟฟ้าประเภทเดียวกัน ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะชุมชนได้นำเทคโนโลยีที่สามารถเผาขยะมูลฝอยที่มีความชื้นสูง และใช้กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากขยะแบบเผาตรงโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการคัดแยก จึงช่วยลดต้นทุนผลิตไฟฟ้าและลดการปล่อยของเสีย เข้าใกล้รูปแบบมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Waste)

3. มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ (Experience) อย่างมีธรรมาภิบาล โดยบริษัทฯ มีบุคลากรที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการสร้างค่านิยมองค์กรที่เรียกว่า “TGE” (เทคโนโลยีที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูง เน้นธรรมภิบาลขององค์กร ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม) สำหรับใช้เป็นเครื่องมือหลักขับเคลื่อนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติงานให้เชื่อมโยงกัน เพื่อพัฒนาสู่การเป็นองค์กรที่มั่นคงครอบคลุมทุกมิติ นำมาซึ่งความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้น ตลอดจนผลประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

นายศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TGE กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TGE, TPG และ TBP ในอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.7 เมกะวัตต์ (MW) และปริมาณไฟฟ้าเสนอขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามสัญญาระยะยาวรวม 20.3 MW อีกทั้งมีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอีก 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TES SKW จังหวัดสระแก้ว, โรงไฟฟ้า TES RBR จังหวัดราชบุรี และโรงไฟฟ้า TES CPN จังหวัดชุมพร ซึ่งได้รับเลือกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 22 MW และปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะเสนอขายรวม 16 MW คาดว่าจะเริ่ม COD ได้ภายในปี 2567

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนขยายการลงทุนไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทอื่นที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และก๊าซชีวภาพ เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มกำลังผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 200 MW ภายในปี 2575

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงปี 2562-2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายจำนวน 336.1 ล้านบาท 650.9 ล้านบาท และ 779.7 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 52.3 ต่อปี จากการจำหน่ายไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ปรับเพิ่มขึ้นตามโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ และในปี 2563 เริ่มมีรายได้จากการรับบริหารจัดการกำจัดขยะจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จังหวัดสระแก้ว ขณะที่กำไรสุทธิในปี 2562-2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 94.3 ล้านบาท 166.9 ล้านบาท และ 202.1 ล้านบาท ตามลำดับ

นางรัชดา เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ 2 บล.เคจีไอ (ประเทศไทย)ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า TGE จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 600 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 27.3 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า ชำระเงินกู้สถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top