ตาชำนิ เคาะราคาขายหุ้น IPO หุ้นละ 3.86 บาท เปิดให้จองซื้อ 20-22 เม.ย.65

บมจ.ตาชำนิ (CEYE) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 70 ล้านหุ้น คิดเป็น 25.93% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด ที่ราคาหุ้นละ 3.86 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยจะเปิดให้จองซื้อในวันที่ 20-22 เม.ย. 65 และคาดจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในหมวดธุรกิจบริการ (service)

การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทในครั้งนี้ พิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (Price to Earnings Ratio : P/E) คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิเท่ากับ 36.64 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลการดำเนินงานในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -31 ธ.ค.64 ซึ่งมีกำไรสุทธิรวมเท่ากับ 28.45 ล้านบาท และคำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังเสนอขายต่อประชาชนในครั้งนี้จำนวน 270,000,000 หุ้น (Fully diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นประมาณ 0.105 บาทต่อหุ้น

นายกิตติพันธ์ ภูษณวรรณ กรรมการผู้จัดการอาวุโส บล.โกลเบล็ก ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน บมจ.ตาชำนิ (CEYE) เปิดเผยว่า เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 29 เม.ย. โดยคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างแน่นอน เนื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายมากขึ้น หนุนให้ทิศทางผลประกอบการของบริษัทกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 64 ที่ผ่านมา

ด้านนางสาวสุวรรณี สุวรรณแสงโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ CEYE คาดว่ารายได้จะกลับมาอยู่ใกล้เคียงกับรายได้ในปี 62 ที่ 300 ล้านบาท ก่อนที่จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่นผลิตภัณฑ์ด้านอุปโภคบริโภค รถยนต์ไฟฟ้า และอื่นๆ รวมไปถึงการขยายไปยังโอกาสใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมข้างเคียง ได้แก่ กลุ่มเอ็นเตอร์เทนเมนต์ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ภาพยนต์ ซีรีย์ เป็นต้น

ปัจจุบัน CEYE มีโครงการในอนาคตในการมองหาความร่วมมือเพื่อขยายไปสู่ธุรกิจต้นน้ำ และปลายน้ำมากขึ้น เป็นห่วงโซ่หนึ่งของอุตสาหกรรมโฆษณาในประเทศไทยที่มีมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท และคาดว่าอุตสาหกรรมโฆษณาจะมีการเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนใช้ลงทุนในการก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่เกือบ 1,000 ตารางเมตร จำนวน 45 ล้านบาท และลงทุนในส่วนขั้นตอนภายหลังการผลิต 15 ล้านบาท นอกจากนี้ นำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ให้แก่สถาบันการเงิน 25 ล้านบาท

รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ 170.25 ล้านบาท เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับแผนการขยายธุรกิจในรูปแบบอื่นๆ อาทิ (1) โครงการลงทุนในบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การตลาด หรือ Creative Agency เพื่อขยายบริการไปยังธุรกิจต้นน้ำ (2) โครงการลงทุนในบริษัท โพสต์ โปรดักชั่น สำหรับวีดีโอ ภาพยนตร์ และซีรีส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างมาก และเป็นตลาดใหม่ของบริษัท (3) โครงการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจออนไลน์ มีเดีย (4) โครงการลงทุนสตาร์ทอัพและสร้างทีมนวัตกรรม เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่รวบรวมการให้บริการ และสร้าง Ecosystem ของกลุ่มครีเอทีฟคอนเทนต์ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น

ด้านนายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า ราคา IPO ที่ 3.86 บาท/หุ้น ถือว่าเป็นระดับราคาที่เหมาะสม และนับว่าเป็นหุ้น IPO ในกลุ่มธุรกิจด้านครีเอทีฟคอนเทนต์โฆษณารายแรกในตลาดฯที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ด้วยความเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตและสร้างสรรค์คอนเทนต์มาตรฐานระดับ International Standard มีบริการครบวงจร รวมถึงศักยภาพในการเติบโตต่อเนื่องในยุค Digital Disruption

นอกจากนี้มองว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่ผ่อนคลายลง ส่งผลให้ตั้งแต่ในไตรมาส 4/64 เป็นจุดเริ่มต้นในการปรับฐานรายได้และกำไรของ CEYE ให้กลับมาเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และ มีสัญญาณที่ดีต่อเนื่องมายังไตรมาส 1/65 จึงมั่นใจว่า ภายหลังการระดมทุนจะยิ่งเพิ่มความพร้อมให้บริษัท เพราะตราบใดที่มีการเปิดตัวสินค้า การสร้างแบรนด์ และการจัดกิจกรรมทางการตลาด ก็ยังมีความต้องการในงานด้านครีเอทีฟและโปรดักชั่นโฆษณาต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี นางสาวสุวรรณี สุวรรณแสงโรจน์ (ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท) ได้แจ้งให้บริษัททราบว่า ประสงค์ที่จะโอนหุ้นสามัญเดิมที่ตนถืออยู่ในบริษัทจำนวน 22,356,230 หุ้น คิดเป็น 8.28% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนในครั้งนี้ เพื่อเป็นมรดกให้แก่นางสาวปัณดา ปุณโณทก บุตรสาวที่บรรลุนิติภาวะแล้วของตน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยการโอนหุ้นมรดกครั้งนี้จะเกิดขึ้นในวันแรกที่หุ้นสามัญของบริษัทเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai หรือวันที่ 29 เม.ย. นี้

โดยการโอนหุ้นดังกล่าวไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้บริหารตามที่เปิดเผยมาในหนังสือชี้ชวน และผู้โอน/รับหุ้นมรดกในครั้งนี้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หุ้นสามัญเดิมของนางสาวสุวรรณี สุวรรณแสงโรจน์ จำนวน 22,356,230 หุ้นที่นำมาโอนหุ้นมรดกในครั้งนี้ เป็นส่วนที่ไม่ได้ติดเกณฑ์ Silent Period

สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น กลุ่มครอบครัวสุวรรณแสงโรจน์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งสัดส่วนก่อน IPO 62.05% และหลัง IPO 45.96% และอันดับสอง นายชำนิ ทิพย์มณี สัดส่วนก่อน IPO 30.74% และหลัง IPO 22.77% อันดับสาม นางสาวณัฐนันท์ กีรติกรยศนันท์ สัดส่วนก่อน IPO 2.50% และหลัง IPO 1.85%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 เม.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top