ศาลฎีกาฯ ออกหมายจับ “ยิ่งลักษณ์” ผิดนัดคดี Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งรับฟ้องในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทย์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, บมจ.มติชน (MATI) , บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท (SPORT) , นายระวิ โหลทอง กรรมการ SPORT เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต โดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 อย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ MATI และ SPORT จัดทำโครงการดังกล่าว

โดยวันนี้จำเลยทั้งหมดเดินทางมาศาลตามนัด ยกเว้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลยที่ 1 โดยได้มีเอกสารแต่งตั้งนายนพดล หลาวทอง เป็นทนายความ ซึ่งศาลอนุญาต แต่มีคำสั่งให้ออกหมายจับที่ไม่เดินทางมาศาลโดยไม่แจ้งเหตุผล เนื่องจากเห็นว่ามีพฤติการณ์หลบหนี และให้ ป.ป.ช.ดำเนินการติดตามตัวให้มารับฟังคดี พร้อมทั้งอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังได้

หลังจากศาลได้อธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งหมดฟังแล้ว จำเลยทั้งหมดได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และทำหนังสือขอขยายระยะเวลาคำให้การ โดยศาลอนุญาตและได้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 12 ก.ย.65 เวลา 09.30 น.

คดีนี้ ป.ป.ช.ได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 28 ม.ค.65 โดยระบุว่า ในช่วงปลายเดือน ส.ค.56 ถึงวันที่ 12 มี.ค.57 จำเลยที่ 1-3 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 อย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 4 และ 5 ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ

คดีดังกล่าว จำเลยที่ 1-3 กำหนดตัวบุคคลผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้า ให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับจ้างจัดทำโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 จำนวน 12 จังหวัด โดยยังไม่ได้คัดเลือกผู้เสนอราคา จำเลยที่ 3 เสนอ และจำเลยที่ 1 อนุมัติใช้งบกลาง 40 ล้านบาท ทั้งที่มิใช่กรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน ต่อมาจำเลยที่ 3 เสนอจำเลยที่ 2 อนุมัติหลักการจัดโครงการที่จังหวัดหนองคายและนครราชสีมา ในวงเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท โดยวิธีพิเศษ จำเลยที่ 3 ครอบงำจูงใจให้คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษยอมรับการเสนอราคาของจำเลยที่ 4 หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 เสนอ และจำเลยที่ 2 อนุมัติจ้างย้อนหลัง

ส่วนโครงการที่เหลืออีก 10 จังหวัด วงเงินไม่เกิน 200 ล้านบาท จำเลยที่ 3 เสนอจำเลยที่ 2 อนุมัติหลักการจัดโครงการโดยวิธีพิเศษ ต่อมาจำเลยที่ 2 อนุมัติตามที่จำเลยที่ 3 เสนอให้จ้างจำเลยที่ 4 และที่ 5 ตามที่ตกลงไว้ล่วงหน้า อีกทั้งจำเลยที่ 3 ยังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอให้มีมติยกเว้นการลงนามในสัญญาก่อนได้รับเงินประจำงวด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งอยู่ในที่ประชุมได้ลงมติอนุมัติด้วย

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นผลให้โครงการที่จะเกิดขึ้นตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มิอาจเกิดขึ้นได้ โครงการ Roadshow เกิดความสูญเปล่า เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายเป็นเงิน 239.7 ล้านบาท

โดย ป.ป.ช.ขอให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 1-3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12,13 พร้อมทั้งลงโทษจำเลยที่ 4-6 ในฐานะผู้สนับสนุน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 เม.ย. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top