ก.ล.ต.ร่วมกับ FETCO เตือนระวังถูกหลอกลงทุนแนะตรวจสอบผ่าน SEC Check First

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ห่วงใยประชาชนอาจถูกมิจฉาชีพหลอกให้ลงทุนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยแอบอ้างชื่อ ภาพ หรือโลโก้ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน หรืออ้างว่าเป็นพนักงาน บลจ. บล. หรือสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาต ขอเตือนให้ระมัดระวังและอย่าหลงเชื่อโฆษณาชักชวนให้ลงทุน โดยตรวจสอบรายชื่อบุคคลผู้ประกอบธุรกิจหรือหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาต ได้ที่แอปพลิเคชัน SEC Check First

ในปัจจุบันมีมิจฉาชีพจำนวนมากอ้างตัวเป็นบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หรือสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตมาหลอกลวงประชาชนให้ร่วมลงทุน และสร้างความเสียหายต่อประชาชนในวงกว้าง รวมถึงแอบอ้างชื่อ ภาพ หรือตราสัญลักษณ์ของ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน เช่นสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในการโฆษณาชวนเชื่อและชักชวนให้ประชาชนลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์ต่าง ๆ ผ่านหลากหลายช่องทาง อาทิ โทรศัพท์ ข้อความสั้น โซเชียลมีเดีย และช่องทางออนไลน์

ก.ล.ต. และ FETCO จึงขอแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการถูกหลอกลวงให้ลงทุน และควรตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ รูปแบบการชักชวนลงทุนที่เข้าข่ายหลอกลวงอาจมีลักษณะ ดังนี้

  • เสนออัตราผลตอบแทนการลงทุนที่จูงใจและสูงเกินจริง ที่มาของผลตอบแทนไม่ชัดเจน
  • ให้ผลตอบแทนจากการชักชวนคนอื่นมาลงทุน
  • รับประกันผลตอบแทนการลงทุน อ้างว่าไม่มีความเสี่ยง
  • แอบอ้างชื่อ ภาพ โลโก้หน่วยงาน บริษัท หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือในการโฆษณาชวนเชื่อ
  • ชักชวนให้ลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์ทางการเงินที่ไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงให้ตรวจสอบได้
  • ให้ฝากหรือโอนเงินลงทุนเข้าบัญชีส่วนตัวของบุคคลธรรมดา ไม่มีการรายงานหรือแจ้งยืนยันการลงทุน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้รับแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อและชักชวนให้ประชาชนลงทุนในลักษณะหลอกลวงเพิ่มขึ้นมาก ก.ล.ต. จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการชักชวนลงทุนจากผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล เนื่องจากจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวงทำให้สูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดได้ ทั้งนี้ ผู้แนะนำการลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่ติดต่อกับผู้ลงทุนจะต้องมีเลขทะเบียนการเป็นผู้ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ให้ตรวจสอบได้ และมีหน้าที่อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ชัดเจน แสดงให้เห็นถึงลักษณะของผลิตภัณฑ์ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และที่มาของแหล่งข้อมูลที่ใช้ประกอบคำแนะนำดังกล่าวที่เชื่อถือได้ โดยผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้แนะนำการลงทุนและผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตผ่านช่องทางของ ก.ล.ต. และเพื่อป้องกันประชาชนจากการถูกหลอกลวง ก.ล.ต. และ FETCO จะหารือแนวทางการคุ้มครองผู้ลงทุนในการทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มเติมต่อไป

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ FETCO กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ามีมิจฉาชีพจำนวนมากอ้างตัวเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต FETCO ในฐานะองค์กรตัวแทนผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาตลาดทุนไทย ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังและปกป้องตนเองจากมิจฉาชีพดังกล่าว โดยตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบก่อนทุกครั้งก่อนตัดสินใจลงทุน อาทิ ตรวจสอบให้มั่นใจถึงความมีตัวตนของบริษัทหรือบุคคลผู้ชักชวนว่าเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย โดยขอตรวจสอบใบอนุญาตจากบุคคลนั้น ๆ หรือตรวจสอบรายชื่อจาก ก.ล.ต. เนื่องจากผู้แนะนำการลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ทางการเงินจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดของหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ที่มีผู้เสนอให้ลงทุน โดยควรต้องมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ สามารถเข้าถึงได้ ไม่มีการโฆษณาอัตราผลตอบแทนที่เกินจริงหรือรับประกันผลตอบแทนโดยอ้างว่าไม่มีความเสี่ยง ผลตอบแทนควรมีที่มาที่ชัดเจน อ้างอิงได้ มีการเปิดเผยข้อมูลให้ตรวจสอบได้อย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่แนะนำการลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ได้ที่แอปพลิเคชัน SEC Check First และเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th หัวข้อ SEC Check First หากมีข้อสอบถามหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่าสงสัย โปรดแจ้งที่ “ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต.” โทร. 1207 หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. เพื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเชิงลึกต่อไป

ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีการกระทำอันเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ผู้กระทำผิดอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับ และหากเข้าข่ายการกระทำที่อาจผิดกฎหมายอื่น ก.ล.ต. มีกระบวนการในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

รวมทั้งสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) โทร. 0-2226-0909 หรือสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) โทร. 0-2264-0900

นอกจากนี้ ยังสามารถสอบถามข้อมูลหรือร้องทุกข์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โทร. 1166
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โทร. 1202
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร. 1570
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โทร. 1441
ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 1359
ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top