วีระกร ชี้รัฐจัดทำงบปี 66 เหมาะสมกับสถานการณ์ มั่นใจผลักดันปท.เดินหน้า

202220203_Canva_political_การเมือง

นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ว่า ในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ผิดไปจากที่วางไว้ไปมากนั้น เนื่องจากประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างสาหัส มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บรายได้อย่างที่เคยกล่าวไว้ อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลา 50-60 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานราชการทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หรือสำนักงบประมาณก็ไม่เคยคาดการณ์ผิดพลาดเกิน 3-5% ยกเว้นปีที่ผ่านมา

“จะเอาปีที่แล้วมาเป็นเกณฑ์ไม่ได้ การจัดงบประมาณโควิด ถึงแม้จะใช้งบที่สูง แต่รัฐก็ใช้อย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์ ไทยสามารถแก้วิกฤติสำเร็จ จนองค์การอนามัยโลกชื่นชม ซึ่งจะเอาเรื่องนี้มาต่อว่ารัฐบาลนั้นไม่ถูกต้อง”

นายวีระกร กล่าว

สำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 66 ซึ่งเพิ่มขึ้น 85,000 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 65 หรือเพิ่มขึ้น 2.74% โดยในปี 65 สภาพัฒน์คาดว่า GDP จะขยายตัว 3.5-4.5% และในปี 66 สภาพัฒน์คาด GDP ขยายตัว 3.2-4.2% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.5-1.5% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นการของบประมาณเพิ่ม 2.74% จึงถือว่าเหมาะสม เหนือกว่าภาวะเงินเฟ้อ และเป็นการจัดงบประมาณแบบผลักดันประเทศไปข้างหน้า

ขณะเดียวกัน งบรายจ่ายประจำเพิ่มมา 1.01% ซึ่งน้อยกว่า GDP ที่เพิ่ม ที่สำคัญมีงบเพื่อการลงทุนมากกว่าปีที่แล้ว 13.59% ซึ่งเมื่อมองแบบเป็นกลาง คือ รัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่นในการลดภาวะรายจ่ายประจำ และเพิ่มงบลงทุน ส่งผลให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

นายวีระกร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เห็นถึงความจำเป็นที่จะเพิ่มงบให้กรมการข้าว 1,700 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนพืชหลักของประเทศ และปัจจุบันมีนักวิจัยพันธุ์ข้าวอยู่แค่ 38% อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ปุ๋ยราคาแพงขึ้นถึง 3 เท่า จึงขอเรียกร้องให้รัฐเร่งตั้งโรงงานปุ๋ยยูเรีย เนื่องจากไทยต้องใช้ถึงปีละ 5.5 ล้านตัน และปุ๋ยโพแทสเซียม ทั้งนี้ ต้องหาแหล่งธรรมชาติเพิ่มเติม โดยต้องการให้นายกรัฐมนตรีของไทยไปหารือกับประเทศกัมพูชา เนื่องจากมีพื้นที่ทับซ้อนที่น่าจะมีก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก

ในส่วนของการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชน และระบบตั๋วร่วม รถไฟฟ้าบีทีเอสซึ่งจะหมดสัมปทานในปี 72 นั้น ขอร้องรัฐบาลว่า ไม่ให้ต่อสัมปทาน เพื่อเจรจาให้ราคาค่ารถไฟฟ้าถูกลง และแก้ปัญหาจราจร ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นการทำกำไรของเอกชน ขณะเดียวกันรัฐสามารถหาเงินเพื่อช่วยเหลือคนกรุงเทพฯ ได้ ด้วยการใช้ระบบตั๋วร่วม กดราคาค่าโดยสารให้ต่ำที่สุดในอีก 7 ปีข้างหน้า โดยมองว่าค่าโดยสารต้องไม่เกิน 10% ของรายได้ขั้นต่ำของคนกรุงเทพฯ หรือไม่เกิน 40 บาท

“รัฐจัดงบประมาณได้ยอดเยี่ยม เข้ากับสภาวะ ไม่ใช่งบหลอกลวง ไม่ใช่สิ้นหวัง เป็นงบที่ตรงกับสถานการณ์ และมั่นใจว่าจะผลักดันให้ประเทศและรัฐบาลก้าวไปข้างหน้า ใครจะมองว่าอย่างไรไม่รู้ แต่เชียร์ลุงตู่ขาดใจ” +

นายวีระกร กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top