ปศุสัตว์เพิ่มความเข้มงวดควบคุมโรคลัมปีสกิน ชี้ฤดูฝนทำภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์ต่ำ

นายสัตว์แพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เนื่องด้วยเข้าสู่หน้าฝน สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อระดับภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์ และจากอิทธิพลของพายุลมมรสุม เป็นปัจจัยที่ทำให้สัตว์แมลงพาหะมีการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น ทำให้สัตว์ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ และมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ เกิดอาการป่วย และในกรณีที่รุนแรง ไม่สามารถทำการรักษาได้ทัน อาจทำให้เสียชีวิตได้ เช่น โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin) ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยพบครั้งแรกในปี 64 ช่วงปลายเดือนมี.ค. 64 เกิดจากเชื้อไวรัสพบเฉพาะในโคกระบือเท่านั้น ไม่ติดต่อสู่คน ติดต่อได้จากสิ่งคัดหลั่ง และมีการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน มีพาหะนำโรคติดต่อระหว่างสัตว์และสัตว์ ได้แก่ เห็บ ยุง แมลงวัน

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ได้มีมาตรการในการควบคุมป้องกันโรคลัมปี สกินในโคกระบือ มาอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา เฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคลัมปี สกิน ให้อยู่ในวงพื้นที่จำกัดโดยเร็ว ลดผลกระทบและความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และสามารถดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่องตามหลัก “รู้เร็ว โรคสงบได้เร็ว” นั้น

กรมปศุสัตว์ โดยสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ได้บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมการระบาดของโรค ตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคลัมปี สกินในโคกระบือ ดังนี้

1. การเฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด เน้นการรู้โรคให้เร็ว เพื่อให้การควบคุมโรคให้สงบอย่างรวดเร็ว ลงพื้นที่และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ (E-Smart surveillance) เพื่อการรายงานการเกิดโรคในพื้นที่ โดยให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมีการรายงานการระบาดของโรคทุกวัน

2. การควบคุมการเคลื่อนย้ายอย่างเข้มงวดตามแนวทางที่กรมปศุสัตว์กำหนด ตามแหล่งรวมสัตว์ ตลาดนัดค้าสัตว์ และตามชายแดน

3. การควบคุมแมลงพาหะนำโรค โดยให้เกษตรกรมีการป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรค ใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์และบริเวณพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เพื่อลดจำนวนแมลงพาหะในการนำเชื้อไวรัสเข้าสู่ฟาร์ม รวมถึงวิธีการอื่นๆ เช่น การกางมุ้ง ใช้ไฟไล่แมลง กับดักแมลง เป็นต้น ทั้งในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคและในพื้นที่เสี่ยง

4. การรักษาสัตว์ป่วย โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่ยังไม่มียารักษาที่จำเพาะ จึงต้องจำเป็นที่จะต้องรักษาตามอาการ โดยหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ของกรมปศุสัตว์

5. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้โคกระบือ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีการนำเข้าวัคซีนโรคลัมปี สกินจากต่างประเทศ และนำไปฉีดให้กับโคกระบือของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ตามแผนการจัดสรรวัคซีนของกรมปศุสัตว์แล้วจำนวน 360,000 โดส ได้อำนวยความสะดวกในการนำเข้าวัคซีนจำนวน 572,000 โดส ให้สมาคมผู้เลี้ยงโครวม 13 สมาคม ได้รับบริจาคจากบริษัทผู้นำเข้าอีกจำนวน 100,000 โดส

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อควบคุมโรคลัมปี สกินในโค กระบือ เพิ่มเติม สำหรับจัดซื้อวัคซีนเพิ่มจำนวน 5,000,000 โดส เพื่อให้โค กระบือได้รับการฉีดวัคซีนครอบคลุมทั้งประเทศ ให้มีภูมิคุ้มกันระดับฝูงที่สามารถลดการระบาดของโรคและทำให้โรคสงบโดยเร็ว ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการกระจายวัคซีนให้กับพื้นที่ และนำไปฉีดให้กับโคกระบือของเกษตรกรทั้งหมดแล้ว

6. การประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยให้แก่เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ การให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคและสถานการณ์ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงความรู้ แนวทางและร่วมมือในการควบคุม ป้องกันโรค เพื่อลดความสูญเสีย

นายสัตว์แพทย์สรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ได้เร่งให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี สกินในโคกระบือ ประสานงานกับจากผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ., อบต., เทศบาล) (ข้อมูลวันที่ 25 พ.ค. 65) ประกอบด้วย การรักษาพยาบาลสัตว์ป่วย จำนวนเกษตรกรที่ได้รับบริการ 206,532 ราย หยดหรือราดยาป้องกันแมลง จำนวนเกษตรกรที่ได้รับบริการ 37,967 ราย พ่นยากำจัดแมลง จำนวนเกษตรกรที่ได้รับบริการ 226,233 ราย พ่นยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรค จำนวนเกษตรกรที่ได้รับบริการ 173,622 ราย แจกยากำจัดแมลงแก่เกษตรกร จำนวนเกษตรกรที่ได้รับบริการ 133,735 ราย และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคลัมปี สกิน และการป้องกันโรค จำนวนเกษตรกรที่ได้รับบริการ 433,610 ราย

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง ร่วมกับการดำเนินงานให้การช่วยเหลือเกษตรกรกับหน่วยงานในพื้นที่ ปัจจุบันพบว่าแนวโน้มการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในประเทศมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ สามารถควบคุมโรคได้ในวงพื้นที่จำกัด และเพื่อให้ภูมิคุ้มกันระดับฝูงที่ดีได้ กรมปศุสัตว์จึงต้องดำเนินการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ และครอบคลุมประชากรสัตว์ เพื่อให้การควบคุม ป้องกันโรคเกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ต่อไป

“ขอความร่วมมือเกษตรกรปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคลัมปี สกินที่ทางกรมปศุสัตว์กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อตัวเกษตรกรและชุมชน” นายสัตว์แพทย์สรวิศ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มิ.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top