กษ.เตรียมตั้งวอร์รูมแก้หนี้สหกรณ์ 1.8 หมื่นลบ. เร่งช่วยเหลือคืนเงินสมาชิก

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “แนวทางการปฏิบัติงานรองนายทะเบียนสหกรณ์” พร้อมทั้งมอบนโยบายในการกำกับดูแลสหกรณ์ทั่วประเทศ และบรรยายพิเศษ หัวข้อ “นโยบายด้านการส่งเสริม กำกับ ดูแลสหกรณ์” เพื่อป้องกันการเกิดข้อบกพร่องและการทุจริตในระบบสหกรณ์ โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

น.ส.มนัญญา กล่าวว่า ได้เตรียมตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะรวบรวมหนี้ที่มีการทุจริตในระบบสหกรณ์ ทั้งสหกรณ์การเกษตร และสหกรณ์ออมทรัพย์ เบื้องต้น 18,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมาจากการสั่งการให้ทุกจังหวัดรวบรวมเข้ามา โดยตัวเลขทุจริตเหล่านี้ จะนำมาใช้ในการแก้ไขตามกรณีแต่ละสหกรณ์ ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ส่งผลกระทบต่อขบวนการสหกรณ์ ซึ่งหลังจากนี้จะขับเคลื่อนการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบสหกรณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับติดตามความคืบหน้า และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

“พรุ่งนี้ (14 มิ.ย.) จะมีการประชุมรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ตามที่นายกฯ ได้มอบหมาย ล่าสุดความเสียหายประมาณ 18,000 ล้านบาท โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด และจะมีการตั้งวอร์รูมเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลของทุกสหกรณ์จังหวัด มีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ทำงานร่วมกันในการตรวจสอบ โดยจะทำหน้าที่เป็นประธาน ทั้งนี้ เพื่อให้ทรัพย์สินที่ยึดคืนมา คืนกลับให้สมาชิกสหกรณ์ให้เร็วที่สุด จะมีการเปิดอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ นอกจากนั้นขอเน้นย้ำให้ทุกสหกรณ์ใช้แอปพลิเคชันของสหกรณ์ เพื่อเปิดให้สมาชิกสามารถเข้ามาตรวจสอบสถานะทางการเงินให้เป็นปัจจุบัน” รมช.เกษตรฯ กล่าว

ด้าน นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ ว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์รับนโยบายจาก รมช.เกษตรฯ ที่ขณะนี้ได้ให้ความสำคัญต่อการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นพิเศษ เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทยปัจจุบันมีกว่า 1,400 แห่ง ทุนดำเนินงานกว่า 2.74 ล้านล้านบาท

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า รมช.เกษตรฯ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามดูแลระบบการเงินของสหกรณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งหาแนวทางป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดทุจริตซ้ำเหมือนกับที่ผ่านมา กรมฯ จึงได้สั่งการให้ทุกจังหวัดกำชับคณะกรรมการสหกรณ์วางระบบการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ออมทรัพย์ ให้เป็นไปตามระเบียบของนายทะเบียนสหกรณ์ และข้อบังคับของแต่ละสหกรณ์อย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก

“กรมฯ ได้มอบหมายให้สหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัดเข้าไปแนะนำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ จัดทำแอปพลิเคชันของแต่ละสหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกสามารถตรวจสอบยอดเงินในบัญชีของตัวเองได้ตลอดเวลา และกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดการปฏิบัติงานของสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด ปัจจุบัน สหกรณ์ออมทรัพย์มีทั้งหมด 1,400 กว่าแห่งทั่วประเทศ โดยกรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายว่าสิ้นปี 65 จะมีสหกรณ์ออมทรัพย์ประมาณ 500 แห่ง ที่สามารถจัดทำแอพพลิเคชั่นพัฒนาระบบการตรวจสอบการเงินให้ทันสมัย เพื่อให้สมาชิกสามารถตรวจสอบเงินของตัวเองได้ตลอดเวลา และควรจะสนับสนุนให้สมาชิกใช้บริการไม่น้อยกว่า 90% ของจำนวนสมาชิกสหกรณ์ทั้งหมด” นายวิศิษฐ์ กล่าว

สำหรับโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการปฏิบัติงานของรองนายทะเบียนสหกรณ์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 มิ.ย. 65 เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจของรองนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ได้รับมอบหมายจากนายทะเบียนสหกรณ์ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายสหกรณ์อนุบัญญัติ แนวทางปฏิบัติตามกฎหมายสหกรณ์ แนวทางปฏิบัติงานในการกำกับ ดูแล และส่งเสริมสหกรณ์ ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรณีปัญหา แนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสหกรณ์ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง และคำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานตามภารกิจของรองนายทะเบียนสหกรณ์ได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ สหกรณ์จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-2 ผู้อำนวยการกลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ ผู้อำนวยการ กลุ่มตรวจการสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ รวม 270 คน ซึ่งเป็นบุคลากรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมสหกรณ์ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องระบบการเงิน การบัญชี การตรวจสอบ และการควบคุมภายใน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมสหกรณ์

ขณะเดียวกัน รวมไปถึงการกำกับดูแลสหกรณ์ ให้ดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถสร้างความเชื่อถือ และความเชื่อมั่น ของสหกรณ์กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ได้เป็นอย่างดี รวมถึงสามารถสร้างความเข้มแข็ง และความมั่นคงให้กับสหกรณ์ ซึ่งจะเป็นผลดีกับสมาชิกต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มิ.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top