AOT ลั่นกลับมาผงาดปี 67 หวังกำไรทะลุปี 62 จากรับรู้ส่วนแบ่งรายได้คิงเพาเวอร์

นายนิตินัย สมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทคาดว่าในปี 67 ธุรกิจการบินจะกลับมาเท่ากับก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 62 ซึ่งเร็วกว่าคาดการณ์เดิมที่คาดจะกลับมาเป็น 100% ในช่วงปี 67-68 โดยเชื่อว่าปัจจัยหนุนหลักจะมาจากการที่ทางการจีนกลับมาเปิดประเทศในปีหน้า

ในงวดปี 65 (ต.ค.64-ก.ย.65) บริษัทปรับคาดการณ์ลง เนื่องจากช่วงต้นปีได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัวโควิดสายพันธุ์โอมิครอน และไทยใช้มาตรการเปิดประเทศแบบมีเงื่อนไข อีกทั้งเมื่อใช้มาตรการเปิดประเทศเต็มรูปแบบในเดือน ก.ค.65 ก็เข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่นพอดี

ขณะที่ในงวดปี 66 (ต.ค.65-ก.ย.66) เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวเริ่มต้นตั้งแต่เดือน ต.ค.65 จนถึงปีใหม่และตรุษจีนในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.66 โดย AOT ประเมินเบื้องต้นว่าทางการจีนจะเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่เดือน ม.ค.66 ซึ่งในกรณี Best Case แต่หากจีนไม่เปิดประเทศก่อนตรุษจีน ก็อาจจะทำให้ปริมาณการบินกลับมาครึ่งหนึ่งของช่วงก่อนเกิดโควิด แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงปลายปี 66 น่าจะใกล้เคียง 100%

ส่วนในปี 67 (ต.ค.66-ก.ย.67) คาดว่าการบินจะกลับมา 100% เท่ากับก่อนเกิดโควิดในปี 62 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 25,026 ล้านบาท

“ปี 67 ดีอย่างสมบูรณ์ Resume 100% ปี 65-67 ก็เป็นช่วงไต่ระดับ จีนเปิดประเทศเมื่อไรการบินก็ฟื้นเร็ว สภาพเศรษฐกิจโลกกระทบฝั่งดีมานด์ แต่ดีมานด์อั้นมานาน ก็น่าจะ pent up demand โดยรวมสภาพเศรษฐกิจก็ไม่มี impact เรื่องสงครามรัสเซียยูเครนคงไม่ได้แย่ไปกว่านี้ แต่ impact แรงๆ หลักๆมาจากจีนเปิดประเทศ best case เปิด 1 ม.ค.66 แต่ถ้าหลุดตรุษจีนจะทำให้ปี 66 จะแย่กว่าประมาณการราว 10-20% จะเหลือประมาณ 52%”

นายนิตินัย กล่าว

ทั้งนี้ AOT ได้ประเมินปริมาณจราจรทางอากาศล่าสุดว่า ในปี 65 จะมีผู้โดยสารรวม 45.60 ล้านคน ฟื้นตัวกลับมาเป็น 33% เมื่อเทียบกับช่วงปี 62 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนปริมาณเที่ยวบินรวม 402,970 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 45%

ส่วนปี 66 และปี 67 AOT คาดว่าจะมีผู้โดยสารรวม 95.70 ล้านคน และ 141.51 ล้านคน การฟื้นตัวคิดเป็น 68% และ 99% ตามลำดับ และปริมาณเที่ยวบินคาดว่ามีจำนวนรวม 664,796 เที่ยวบิน และ 892,414 เที่ยวบิน โดยฟื้นตัวคิดเป็น 74% และ 99% ตามลำดับ

นายนิตินัย กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สำคัญ คือ ในปี 67 AOT รายได้จาก Non-Aero จะเติบโตอย่างมาก โดยคาดว่าจะมีสัดส่วน 58% จากเดิม 43% โดยจะมีรายได้เสริมเข้ามาจากสัมปทานที่ให้กับกลุ่มคิงเพาเวอร์ หลังจากระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.66 และจะส่งมอบพื้นที่ภายในอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเดือนเม.ย.66 โดยส่วนแบ่งรายได้จะผันแปรกับจำนวนผู้โดยสาร หลังจากที่เคยยกเลิกเก็บผลตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) ในช่วงโควิด เนื่องจากแทบไม่มีผู้โดยสาร

กลุ่มคิงเพาเวอร์ ได้รับสัมปทานร้านค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวมทั้ง การบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสัญญามีระยะเวลา 10 ปี ก่อนหน้านี้ทั้ง 3 สัญญากลุ่มคิงเพาเวอร์จะต้องส่งรายได้ขั้นต่ำรายปี 2.35 หมื่นล้านบาท

“รายได้จาก Non-Aero จะโตแรง มาจากสัมปทานใหม่ของคิงเพาเวอร์ … กำไรปี 67 คาดว่ามากกว่าปี 62 เพราะรายได้จาก Non-Aero มากกว่าปี 62”

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายนิตินัย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาผู้เช่าพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารทุกสนามบินภายใต้การบริหารงานของ AOT หายไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดเป็นรายย่อย ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มร้านที่มีแฟรนไชส์ หรือ ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ อาทิ คิงเพาเวอร์ เดอะมอลล์กรุ๊ป แต่เชื่อว่า AOT จะเร่งหาร้านค้าเข้ามาใช้พื้นที่ที่เหลือ 50% ได้เต็มโดยเร็ว

นายนิตินัย กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าแต่ละสายการบินมีความพร้อมรับนักท่องเที่ยวหรือไม่ โดยบมจ.การบินไทย (THAI) บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) และสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ส่วนสายการบินไทยแอร์เอเชีย ก็มีการจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า แต่เชื่อว่าทุกสายการบินเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น ขณะที่ AOT มีความพร้อมรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่อยู่แล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top