สธ. วาง 5 มาตรการใช้กัญชาอย่างปลอดภัย ไม่หนุนสันทนาการ ย้ำติดตามเข้มช่วงรอยต่อ

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพ ไม่ได้สนับสนุนเรื่องของการสูบ การเสพ หรือการสันทนาการ โดยมีการวางมาตรการ 5 ด้านเพื่อสนับสนุนการใช้กัญชาอย่างปลอดภัย ดังนี้

1. การส่งเสริมการใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ ให้ความรู้ประชาชนทั้งเรื่องประโยชน์ เรื่องโทษ และการใช้อย่างเหมาะสมต่อสุขภาพ โดยจัดทำคู่มือการใช้กัญชาอย่างเข้าใจ และมีแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย

2. การควบคุมด้วยกฎหมาย ขณะนี้มีกฎหมายควบคุมการเสพที่สาธารณะ เรื่องกลิ่นและควันเป็นเหตุรำคาญ มีการออกประกาศไม่ให้ใช้ในผู้ที่ต่ำกว่าอายุ 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร และยังมีตัวแทนร่วมเป็นกรรมาธิการปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ. … ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้นโยบายชัดเจนว่าต้องสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ ไม่สนับสนุนการเสพและสันทนาการ จึงต้องขับเคลื่อนให้มีการควบคุมป้องกันในกฎหมายกัญชงกัญชา

3. การเฝ้าระวังป้องกันการใช้ในทางที่ผิด โดยวางระบบรายงานเฝ้าระวังผลการใช้กัญชา ทั้งพิษจากกัญชาหรือปัญหาทางด้านจิตประสาท ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานว่ายังไม่ได้พบมากขึ้น ส่วนระบบรายงานการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่มีอยู่เดิม มีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาทางการแพทย์เพียง 1% และเป็นกลุ่มที่อาการเล็กน้อย เนื่องจากเป็นการใช้อย่างควบคุม

4. การวางระบบการดูแลรักษาพยาบาลและบำบัดรักษา ขณะนี้มีกลุ่มงานสุขภาพจิต และยาเสพติดทุกจังหวัดที่เปิดหอผู้ป่วยรองรับการดูแล

5. การกำกับติดตามผลการขับเคลื่อนตามมาตรการที่กำหนด

“สำหรับกรณีที่ไม่ได้ใช้ผ่านการควบคุม หรือไม่เป็นไปตามนโยบาย วัตถุประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเรามีกฎหมายป้องปรามไว้แล้ว หากมีการฝ่าฝืน เช่น เสพ มวนขาย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนเรื่องของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะติดตามตรวจสอบหลังการอนุญาตให้มีการใส่สารสกัดกัญชาตามกฎหมายกำหนด โดยในช่วงรอยต่อนี้จะมีการตรวจติดตามอย่างเข้มงวด”

นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ขณะเดียวกัน ได้จัดระบบติดตามเฝ้าระวังทั้งในส่วนของโรงพยาบาล คือ พิษจากกัญชาและปัญหาจิตประสาท และการเฝ้าระวังในชุมชน โดยเฉพาะการใช้ในทางที่ผิด โดยมอบหมายให้กรมสุขภาพจิต ออกแบบสำรวจเพื่อติดตามดูแนวโน้มผู้ป่วยในแต่ละเดือน รวมถึงติดตามเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุด้วย

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อจัดทำข้อมูลสื่อสารกับประชาชนทุกวันผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก และหมอพร้อม เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาทั้งผลดี ผลเสีย การใช้ที่ถูกต้อง โดยสื่อสารทั้งในกลุ่มคนทั่วไปและกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากกัญชา ซึ่งต้องได้รับข้อมูลอย่างชัดเจน รวมถึงจะให้กรมการแพทย์และกรมสุขภาพจิต ร่วมกันอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาที่สังคมห่วงใยในแต่ละเขตสุขภาพด้วย

“แม้กัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติด แต่ยังมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ดังนั้น ควรใช้อย่างเหมาะสม โดยทางการแพทย์ จะมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยยากัญชา ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ซึ่งหากใช้ภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพจะมีความปลอดภัย กรณีการนำไปใช้ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดอาการเฉียบพลันต่างๆ ได้เตรียมการดูแลรักษาตามแนวทางของกรมการแพทย์ ส่วนผลิตภัณฑ์จากกัญชาได้กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top