นายกฯ กำชับหน่วยงานเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ เร่งช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบประชาชน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์ฝนที่ตกหนักช่วงนี้ จนทำให้พื้นที่หลายจังหวัดเกิดน้ำท่วมขังฉับพลัน ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัย มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 3 จังหวัด คือ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน รวม 3 อำเภอ 7 ตำบล 15 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 26 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าสำรวจความเสียหาย และให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากรายงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พบว่าสภาพอากาศในช่วงนี้ มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และประเทศลาว เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

อีกทั้งในระหว่างวันที่ 3-7 ก.ค. 65 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา และประเทศลาวตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังฉับพลัน กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าแก้ไขปัญหา ดูแลประชาชนอย่างทันท่วงที

“จากสภาพอากาศในช่วงนี้ ที่ทุกภาคของประเทศ รวมทั้งกรุงเทพฯ มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาค ติดตามสถานการณ์น้ำ เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำ ลำน้ำสายหลักและสาขาในพื้นที่ เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เลี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งให้ตรวจสอบระบบการแจ้งเตือนประชาชนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากได้ทันท่วงที” นายธนกร กล่าว

ขณะที่ในส่วนของกรุงเทพฯ นายกรัฐมนตรีกำชับให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สนับสนุนเครื่องสูบน้ำแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง ให้ระดับน้ำกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ทั้งนี้ สำหรับในพื้นที่ที่มีประชาชนได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ขอให้ผู้นำท้องที่และท้องถิ่น ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อวางแผนให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายหลังระดับน้ำเริ่มลดลงด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top