AMR ศึกษาธุรกิจเดินรถไฟฟ้าสายรอง-เคเบิ้ลคาร์ พร้อมเล็งทำ M&A สร้าง New S Curve

นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บมจ. เอเอ็มอาร์ เอเซีย (AMR) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทฯ ยังมองหาโอกาสการขยายการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อสร้าง New S Curve เพิ่มแหล่งที่มาของรายได้ประจำ (Recurring Income) สนับสนุนผลการดำเนินงานเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคงในอนาคต โดยบริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษาและประเมินมูลค่าโครงการอีกจำนวนมาก เช่น ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายรองย่านรังสิต (Feeder Line) ธุรกิจให้บริการเคเบิ้ลคาร์เพื่อการท่องเที่ยว และยังมีแผนการซื้อธุรกิจ (Merger & Acquisition) – Utilities, Energy and Environment หรือธุรกิจด้านสาธารณูปโภคที่เกี่ยวกับพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาและประเมินมูลค่ากิจการ ซึ่งเชื่อว่าจะผลักดันการเติบโตได้ในอนาคต

“AMR ยังคงมองหาโอกาสการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีแผนออกมาจำนวน 6 โครงการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายรองย่านรังสิต แผนเปิดให้บริการเคเบิ้ลคาร์เพื่อการท่องเที่ยว การลงทุนแบ่งรายได้จากการลดค่าไฟฟ้าด้วยโซล่าร์รูฟท็อป การให้บริการสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (Battery Swapping Station) เดินหน้าพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ชุมชน กะตะ-กะรน และให้บริการระบบบริหารจัดการอาคารอย่างครบวงจร เป็นต้น”

ทั้งนี้ โครงการที่ชัดเจนมากที่สุด ได้แก่ “มาชาร์จ แพลตฟอร์ม” การให้บริการสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (Battery Swapping Station) ซึ่งบริษัทฯ ได้ติดตั้งตู้สับเปลี่ยนแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแล้วจำนวน 9 ตู้ ในพื้นที่บางกรวย จังหวัดนนทบุรี ถือว่าเป็นการนำร่อง และมีแผนที่จะขยายการติดตั้งให้ครบ 1,000 ตู้ ภายในปี 2566 โดยผู้ใช้สามารถติดตามการใช้งาน จองแบตเตอรี่และค้นหาสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น ซึ่งมองว่าเป็นส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring income) ให้แก่บริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี

นายมารุต กล่าวว่า บริษัทฯ วางเป้าหมายรายได้ปี 65 อยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 40% เทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) ณ สิ้นไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ประมาณ 2,064 ล้านบาท โดยสัดส่วนหลักมาจากงานวิศวกรรมออกแบบและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชันแบบครบวงจร (System Integrator: SI) กว่า 70% และส่วนที่เหลือมาจากโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนที่ 1 ที่มีมูลค่าคงเหลือ 469 ล้านบาท ล่าสุดมีงานที่รับเข้ามาคือการปรับเปลี่ยนระบบงานประกันสังคมบนเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรม เป็นระบบเว็บแอปพลิเคชัน มูลค่า 364 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเข้ารุกธุรกิจด้านระบบบริหารจัดการอาคารอย่างครบวงจร โดยมีแผนจะนำเสนอการให้บริการภายในไตรมาส 3/65 โดยควบคุมผ่าน Software บนเครื่อง Workstation ครอบคลุมการบริหารจัดการและอุปกรณ์ภายในอาคารและพื้นที่ในอาณัติ AMR ให้บริการอย่างครบวงจร ตั้งแต่ออกแบบ ติดตั้ง ซ่อมบำรุง และให้คำปรึกษา โดยใช้ “Digital Twin Technology” ในการบริหารจัดการอาคาร ซึ่งมองว่าธุรกิจนี้มีโอกาสในการเติบโตที่ดี เนื่องจากในอนาคตการดูแลตึกหรืออาคารขนาดใหญ่ จะใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะและระบบออโตเมชั่นทดแทนการใช้คนมากขึ้น

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AMR กล่าวอีกว่า ในส่วนโครงการโซล่าร์รูฟท็อป ปัจจุบันบริษัทฯ มีแผนเข้าไปเสนอการติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อปกับอาคารสำนักงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จากที่ได้มีโอกาสติดตั้งระบบโซล่าร์บนหลังคาของศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งประสบความสำเร็จในการลดการใช้พลังงานในอาคาร จึงมองว่าการเติบโตของธุรกิจนี้จะไปได้อีกไกลในประเทศไทย ขณะที่โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ชุมชน กะตะ-กะรน จังหวัดภูเก็ต อยู่ในระหว่างการทำโครงการต้นแบบ ซึ่งได้นำเสนอต่อผู้พัฒนาโครงการ หนุนธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top