สธ.เผยหนุ่มไนจีเรียหนีออกนอกปท.แล้ว ไม่พบผู้ป่วยฝีดาษลิงเพิ่ม-ยันคุมสถานการณ์ได้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงความคืบหน้าการพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง (ฝีดาษวานร) รายแรกในประเทศไทยว่า ตามที่ได้รายงานพบนักท่องเที่ยวชายชาวไนจีเรีย ที่เดินทางเข้ามาใน จ.ภูเก็ต เป็นผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิง และมีการหลบหนีออกจากภูเก็ตไปแล้วนั้น ล่าสุดมีข้อมูลเบื้องต้นว่านักท่องเที่ยวชาวไนจีเรียคนดังกล่าว อาจจะหลบหนีออกนอกประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณชายแดน จ.สระแก้วไปแล้ว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนหน่วยงานท้องถิ่นใน จ.สระแก้ว และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อช่วยประสานและติดตามป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดต่อไป

“ลักษณะไม่ค่อยเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป ที่เวลาเป็นโรคอะไรส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ แต่เขามีพฤติกรรมหลบเลี่ยง ข้อมูลล่าสุด พบสัญญาณมือถือแถวๆ จังหวัดชายแดน นักท่องเที่ยวรายนี้ไม่น่าจะใช่นักท่องเที่ยวธรรมดา น่าจะมีคนช่วยเหลือเรื่องการหลบหนีในประเทศไทย รายละเอียดต่อไปต้องให้ตำรวจให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพราะต้องมีกฎหมายอื่นที่ใช้ร่วมกัน”

นพ.โอภาสระบุ

พร้อมย้ำให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับโรคฝีดาษลิง เพราะไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย และเป็นโรคที่ไม่สามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยโรคฝีดาษลิงในประเทศไทยยังคงสถานะเป็นเพียงโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเท่านั้น ประชาชนทั่วไปที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตปกติ ถือว่ามีโอกาสเสี่ยงน้อยมากที่จะติดเชื้อจากโรคนี้ อย่างไรก็ดี มาตรการสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการอยู่ คือ การจัดระบบเฝ้าระวัง ให้ความรู้แก่ประชาชน และคอยติดตามว่าจะมีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่

“ขอย้ำว่า โรคฝีดาษลิงจะติดจากการสัมผัสใกล้ชิด โรคนี้ไม่ได้ติดกันง่ายๆ ผ่านทางเดินหายใจ…การใช้ชีวิตปกติ หรือพฤติกรรมของประชาชนโดยปกติทั่วไป ความเสี่ยงเท่ากับศูนย์ ไม่ต้องกังวลมาก เชื้อของโรคนี้จะอยู่ตามตุ่มหนอง ต้องสัมผัสใกล้ชิดจริงๆ ถึงจะติด ถ้าให้เปรียบเทียบ โรคนี้ติดยากกว่าโรคเอดส์ คงไม่ต้องกังวลกันมากไป”

นพ.โอภาส กล่าว

สำหรับการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ได้มีการเข้าไปทำการคัดกรองกลุ่มพนักงานและผู้ใช้บริการรวมทั้งหมด 142 ราย ในสถานบันเทิง 2 แห่งที่ผู้ติดเชื้อชาวไนจีเรียเคยเข้าไปใช้บริการ พบผู้ที่มีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดตามตัว 6 ราย แต่ในทั้ง 6 รายนี้ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยชาวไนจีเรีย และได้มีการส่งตรวจหาเชื้อ 5 ราย โดยผลตรวจไม่พบเชื้อ ขณะที่อีก 1 รายเดินทางไปต่างประเทศแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการค้นหาเชิงรุกจากผู้ป่วยโรคผื่นผิวหนังอื่นๆ รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใน รพ. 3 แห่ง และคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีก 3 แห่ง เพื่อสุ่มตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษลิง ในผู้ที่เคยเข้ามารับบริการรักษาตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.65 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล และสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อรวม 183 ตัวอย่าง ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 183 รายเป็นผู้สัมผัส แต่เป็นมาตรการค้นหาเชิงรุกย้อนหลังจากผู้ที่มีอาการต้องสงสัยเท่านั้น ซึ่งเป็นการยกระดับการเฝ้าระวัง

ส่วนการค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดกับชายชาวไนจีเรีย รวมทั้งหมด 33 ราย แบ่งเป็น ผู้มีความเสี่ยงสูง 19 ราย ที่ได้พักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมเดียวกัน โรงแรมเดียวกัน ใช้ยานพาหนะเดียวกัน ใช้บริการร้านค้าในชุมชนเดียวกัน ได้ส่งตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อแล้วพบว่าทั้งหมดไม่พบเชื้อ แต่จะต้องสังเกตอาการต่อไปอีก 21 วัน ส่วนที่เหลืออีก 14 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่ความเสี่ยงต่ำ ก็ยังให้สังเกตอาการ 21 วันเช่นกัน

อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้คำแนะนำในการป้องกันโรคฝีดาษลิงสำหรับประชาชน ดังนี้

1. โรคฝีดาษลิง ติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรงกับตุ่มหรือผื่น หรือสิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้ป่วย ดังนั้นให้เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง และงดใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย

2. เน้นการล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่าง

3. หากเริ่มมีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่นแดง หรือตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ลำตัว แขน ขา ใบหน้า และฝ่ามือฝ่าเท้า ร่วมกับมีประวัติเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และแจ้งประวัติเสี่ยงด้วย

4. กรณีพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงที่เป็นชาวต่างชาติ แนะนำให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ ไม่ควรหลบหนี ทั้งนี้เพื่อลดการแพร่โรคสู่ผู้อื่น

นพ.โอภาส ยังระบุด้วยว่า เชื้อฝีดาษลิงในปัจจุบันมี 2 สายพันธุ์หลัก คือ 1.สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ความรุนแรงไม่มาก 2.สายพันธุ์แอฟริกากลาง มีความรุนแรงมากกว่า ซึ่งการระบาดในรอบนี้ ส่วนใหญ่เป็นการระบาดของสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก

“การระบาดในรอบนี้ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก โดยมี 2 สายพันธุ์หลักๆ คือ A และ B ตอนนี้ แต่อนาคตเมื่อกลายพันธุ์จะมีสายพันธุ์ย่อยได้อีกเยอะ สายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในยุโรป คือ สายพันธุ์ B.1 ส่วนสายพันธุ์ที่พบในผู้ป่วยรายนี้ (ชาวไนจีเรีย) คือ A.2 ซึ่งสัมพันธ์กับสายพันธุ์ที่ระบาดในอเมริกา”

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top