ก.ล.ต.เปิดรับฟังความคิดเห็นปรับปรุงคุณสมบัติบอร์ด-ผู้บริหารธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ขอรับความเห็นชอบการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกผันบริษัท (กรรมการผู้มีอำนาจ) และผู้จัดการ รวมถึงการกำหนดโครงสร้างการบริหารและองค์ประกอบคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ผู้ประกอบธุรกิจ) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความเสี่ยงในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อขายและความเชื่อมั่นต่อตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม

ในช่วงที่ผ่านมามีภาคเอกชนสนใจเข้ามาขอรับใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนมาก ซึ่งเป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขณะที่หลักเกณฑ์คุณสมบัติของกรรมการผู้มีอำนาจและผู้จัดการของผู้ประกอบธุรกิจในปัจจุบันกำหนดไว้ในลักษณะที่กว้างไม่ได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าต้องมีประสบการณ์หรือทักษะในด้านที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ฯ โดยตรง

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในการประชุมครั้งที่ 4/65 เมื่อวันที่ 7 เม.ย.65 และในการประชุมครั้งที่ 6/65 เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.65 จึงได้มีมติเห็นชอบหลักการในการปรับปรุงหลักเกณฑ์คุณสมบัติของกรรมการผู้มีอำนาจ และผู้จัดการของผู้ประกอบธุรกิจ โดยกำหนดให้ต้องมีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้เหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบ และมั่นใจได้ว่าจะสามารถบริหารงานและบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อขายและความเชื่อมั่นต่อตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม

พร้อมกันนี้ยังเปิดให้ผู้ที่ได้รับคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์สามารถขอรับความเห็นชอบเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและผู้จัดการของผู้ประกอบธุรกิจได้ เพื่อให้หลักการด้านคุณสมบัติมีความยืดหยุ่นและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่กำหนดเฉพาะคุณวุฒิด้านการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเท่านั้น

รวมทั้ง กรณีผู้ประกอบธุรกิจที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าตั้งแต่ 2,000 ล้านบาทขึ้นไปเป็นระยะเวลา 5 วันติดต่อกัน แม้ว่ามูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าที่เก็บรักษาไว้จะปรับลดลงต่ำกว่าจำนวนดังกล่าวในภายหลังก็ตาม ต้องกำหนดโครงสร้างการบริหารและองค์ประกอบคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจเพิ่มเติม เช่น มีกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด มีกรรมการอิสระอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของกรรมการตรวจสอบทั้งหมด และกรรมการอิสระต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เพื่อให้โครงสร้างการบริหารและองค์ประกอบของคณะกรรมการมีความเหมาะสม สอดคล้องกับขนาดธุรกิจและความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งเพื่อให้กรรมการทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top