สหรัฐทบทวนเก็บภาษีจีนอีกครั้ง หลังชนวนเหตุไต้หวัน

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันทำให้เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ จำเป็นต้องทบทวนแผนการจัดเก็บภาษีว่า จะยกเลิกภาษีบางส่วนหรือบังคับใช้มาตรการทางภาษีอื่น ๆ เพิ่มเติมกับจีน

บทวิเคราะห์จากสำนักข่าวรอยเตอร์เผยว่า คณะทำงานของปธน.ไบเดนพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะผ่อนคลายมาตรการด้านภาษีที่บังคับใช้ในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากจีน เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังพิจารณาถึงแนวทางการยกเลิกการจัดเก็บภาษีบางรายการ โดยจะมีการตรวจสอบการจัดเก็บภาษีอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกครั้งตามมาตรา 301 รวมถึงขยายรายการสินค้าที่ยกเว้นภาษีเพื่อช่วยเหลือบริษัทของสหรัฐ ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากจีนเท่านั้น

ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องนี้ โดยแนวทางต่าง ๆ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่มาตรการจัดเก็บภาษีทำให้บริษัทในสหรัฐต้องนำเข้าสินค้าจากจีนแพงขึ้น และทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การลดอัตราเงินเฟ้อลงก็เป็นเป้าหมายหลักของปธน.ไบเดนก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพ.ย.นี้

อย่างไรก็ดี การที่จีนได้ออกมาซ้อมรบเพื่อตอบโต้การเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐหันมาทบทวนนโยบายอีกรอบ

ทางด้านสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) อยู่ระหว่างการทบทวนมาตรการจัดเก็บภาษีเป็นระยะเวลา 4 ปี ที่บังคับใช้สมัยของอดีตปธน.ทรัมป์เมื่อปี 2561 โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 เดือนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยคาดว่า การทำประชามติรับฟังความเห็นสาธารณะในขั้นสุดท้ายว่าจะยังคงมาตรการภาษีดังกล่าวไว้หรือไม่นั้นมีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 23 ส.ค. นี้

ขณะที่กลุ่มสหภาพแรงงานที่นำโดยกลุ่มยูไนเต็ดสตีลเวิร์กเกอร์ (United Steelworkers) ได้เรียกร้องให้ USTR ดำเนินการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าจีนต่อไป เพื่อส่งเสริมโอกาสทางการแข่งขันสำหรับแรงงานในสหรัฐและลดการพึ่งพาซัพพลายเออร์จากจีน

แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่า ปธน.ไบเดนเองก็กังวลเรื่องการผ่อนปรนด้านภาษี สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากแรงงาน ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค แต่จีนเองก็ไม่สามารถทำตามข้อตกลงในการซื้อสินค้าจากสหรัฐ ขณะที่ทำเนียบขาวปฏิเสธที่จะกำหนดกรอบเวลาว่า จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายเมื่อใด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top