นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 1,000 เมกะวัตต์ภายในระยะเวลา 5 ปี (65-69) จากปัจจุบันที่บริษัทมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 670 เมกะวัตต์
สำหรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งจะมาจากบริษัทร่วมทุนกับ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่เตรียมเข้าประมูลโครงการพลังงานลมในประเทศไทยช่วงปลายปีนี้ที่จะเปิดให้เข้าประมูลรวม 1,500 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทคาดหวังที่จะได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ โดยบริษัทได้เตรียมพื้นที่รองรับโครงการไว้ทั้งหมดแล้ว
ทั้งนี้ หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ คาดว่าจะเริ่มมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในกลุ่มราชการต่างๆ อาทิ โรงพยาบาล โรงเรียน และ ศูนย์ราชการต่างๆ โดยบริษัทคาดหวังจะได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์
ส่วนโครงการโซลาร์รูฟท็อปในรูปแบบของ Private PPA บริษัทมีการร่วมมือกับพันธมิตรหลายราย ได้แก่ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) ตั้งเป้ากำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปี (65-69) , บมจ.เจ มาร์ท (JMART) จะเดินหน้าติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปตั้งเป้ากำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ภายใน 2 ปี (65-66) บนพื้นที่กว่า 5,000 จุด อาทิ ชอปปิ้งมอลล์ ศูนย์ติดตามหนี้สาขาต่างๆ และล่าสุด JMART ได้รุกธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (AMC) จึงมองเห็นโครงการที่มีศักยภาพที่จะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มเติมด้วย
ในขณะเดียวกันการร่วมมือกับ บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) เบื้องต้นมีโครงการที่มีศักยภาพติดตั้งโซลาร์รูฟโครงการบ้านอยู่อาศัยของเครือพฤกษาฯ ราว 12,500 หลังคาเรือนที่จะทยอยติดตั้ง
“นอกจากพันธมิตรรายใหญ่ๆ ที่ได้ร่วมมือและเตรียมเดินหน้าติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอย่างต่อเนื่อง ยังมีความต้องการจากลูกค้ากลุ่มอื่นๆเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนที่มาจากราคาพลังงานที่พุ่ฃสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา”นายสมบูรณ์ กล่าว
นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนามเพิ่มเติมอีก 60-100 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลเวียดนามถึงความชัดเจนของราคาขายไฟฟ้า โดยบริษัทยืนยันว่าจะต้องมีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ไม่ต่ำกว่า 10%
บริษัทยืนยันว่ามีแหล่งเงินทุนเพียงพอ หลังจากที่บริษัทได้มีเงินทุนจาก GULF มูลค่า 5,000 ล้านบาท และนำไปคืนหุ้นกู้ไปบางส่วน และ เงินกู้ยืมระยะสั้น รวมกว่า 3,800 ล้านบาท รวมไปถึงการปรับโครงสร้างทางการเงินหลังจาก GULF เข้ามาร่วมลงทุนช่วยหนุนให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ส.ค. 65)
Tags: GUNKUL, กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง, สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย