นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Bangkok Post Forum 2022:Accelerating Thailand (พลิกโฉมประเทศไทย) ว่า ภาวะเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายไม่ได้เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ไว้ เพราะแทนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องกลับมีปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่เป็นปัจจัยใหม่เข้ามาอย่างคาดไม่ถึง เช่น ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกเกิดภาวะถดถอย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของไทยเองยังมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ เพราะสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบมีความรุนแรงน้อยกว่าวิกฤติโควิด-19 ทำให้มั่นใจว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวเชิงบวกได้ดีกว่าที่เคยมีการคาดการณ์เอาไว้
ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเตรียมความพร้อมสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีด้วยการเปิดประตูการค้าการลงทุน โดยขณะนี้มีการวางโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงทุกภูมิภาค ในฝั่งตะวันออกมีโครงสร้างถนนไปถึงประเทศกัมพูชา ส่วนฝั่งตะวันตกมีโครงข่ายถนนไปจ่อที่ชายแดนเพื่อเข้าสู่เมียนมา หากอีก 2 ปีไม่มีปัญหาความขัดแย้งภายในก็จะเชื่อมโยงเข้าไปได้ ส่วนทางเหนือก็มีโครงข่ายถนนและรถไฟเชื่อมถึงจีนตอนใต้ และทางใต้มีโครงข่ายถนนและรถไฟไปถึงสิงคโปร์ แม้การลงทุนดังกล่าวจะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นก็ตาม
“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราพยายามทำงานตาม 3 pillar ชี้แจงให้นักลงทุนเชื่อว่าประเทศไทยมีความพร้อม ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะต้องทำงานท่ามกลางวิกฤตโควิด-19” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
อนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอกลยุทธ์ 3แกนสำคัญ (pillar) ในการสร้างอนาคตประเทศ ได้แก่ แกนที่ 1 โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ, แกนที่ 2 อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและการเกษตรสมัยใหม่ และ แกนที่ 3 ภาคการธนาคาร
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนของการลงทุนเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลได้พยายามเร่งกระบวนการ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดี ไม่ใช่แค่การนำเข้ามาขายแต่เป็นการเข้ามาลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้มีการลงทุนตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าไปแล้วถึง 869 แห่ง
และช่วงเยียวยาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลได้นำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้ในโครงการคนละครึ่งช่วยให้ประชากรราว 50 ล้านคนมีประสบการณ์ในการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมีการต่อยอดขยายผลไปยังการจำหน่ายสลากดิจิทัล และบริษัท Amazon ได้เข้ามาใช้เป็นฐานลงทุนเรื่องระบบข้อมูลแห่งหนึ่งในโลก นอกจากนี้รัฐบาลพยายามขับเคลื่อน BCG โมเดล เช่น การเป็นผู้ผลิตไบโอพลาสติกรายใหญ่ของโลก การนำเส้นใยจากผลผลิตทางการเกษตรมาใช้งานแทนเส้นใยจากฟอสซิล การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนั้น รัฐบาลยังเชื่อว่าการดำเนินการในเรื่องต่างๆ จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายเรื่องเป็นกลางทางคาร์บอนได้เร็วขึ้น และภายใน 90 วันหลังจากนี้น่าจะได้รู้ผลศึกษาเรื่องแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดหลายพันล้านตัน ซึ่งจะสร้างศักยภาพของประเทศให้เป็นที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ในปีหน้าจะได้เห็นการลงทุนด้าน BCG เกิดขึ้นอีกจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาตนได้เห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะรับข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 65)
Tags: สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, เศรษฐกิจไทย