คมนาคมเผยชง ครม.อนุมัติหลักการแลนด์บริดจ์ภายในปีนี้ก่อนโรดโชว์ต่างชาติ Q1/66

แลนด์บริจ

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เผยความคืบหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 (Focus Group ครั้งที่ 1) ในพื้นที่จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร เพื่อนำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าของการศึกษาและสาระสำคัญของโครงการ เช่น พื้นที่ตั้งของท่าเรือ แนวเส้นทางและทางเข้าท่าเรือ ตลอดจนแนวเส้นทางของโครงการและเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สำหรับนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ

ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถนำผลศึกษาฯ เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาและเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการได้ในปี 2566 หลังจาก ครม.เห็นชอบแล้วคาดว่าในไตรมาสที่ 1/2566 จะเสนอโครงการต่อนักลงทุนในต่างประเทศ(RoadShow) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะของผู้ที่สนใจ ซึ่งที่ผ่านมามีสายเดินเรือขนาดใหญ่ระดับท้อป 5 ของโลกให้ความสนใจหลายราย

ส่วนในไตรมาสที่ 2/2566 สนข.จะนำประเด็นและข้อเสนอแนะจากผู้สนใจลงทุนมาดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดโครงการ และปรับรูปแบบการวิเคราะห์ โครงการฯ และนำเสนอข้อมูลโครงการ รูปแบบการดำเนินโครงการ เงื่อนไข สิทธิประโยชน์ที่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมเสนอต่อ ครม.เพื่อขออนุมัติโครงการได้ในเดือน มิ.ย.66

ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ขณะนี้ยังดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ.เอสอีซี) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ โดยจะมีการจัดตั้งสำนักงานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (เอสอีซี) ในลักษณะเดียวกับ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) ที่ใช้ขับเคลื่อนโครงการอีอีซีด้วย โดยจะเสนอร่าง พ.ร.บ.เอสอีซี พร้อมเงื่อนไข สิทธิประโยชน์ให้ ครม.เห็นชอบภายในเดือน มิ.ย.66 พร้อมทั้งขออนุมัติโครงการฯ

“อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งสำนักงานเอสอีซี และจัดทำร่าง พ.ร.บ.เอสอีซี เพื่อเป็นหน่วยงานในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ลักษณะเดียวกับ พ.ร.บ.อีอีซี ที่ใช้ขับเคลื่อนโครงการอีอีซี คาดว่าจะเสนอ ครม.เห็นชอบในหลักการภายในปี 2565 และเสนออนุมัติ พ.ร.บ.ดังกล่าวภายในเดือน มิ.ย.66 ซึ่งดำเนินการควบคู่กับการเสนอขออนุมัติโครงการฯ” นายปัญญา กล่าว

หลังจาก ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เอสอีซี แล้วจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะอยู่ภายในไตรมาส 4/2567 ซึ่งในระหว่างนี้จะมีการจัดทำ RFP เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยจะเปิดประมูลภายในไตรมาส 1/2568 และคาดว่าจะลงนามสัญญาผู้ร่วมลงทุนฯ ได้ภายในไตรมาส 3/2568 และเริ่มการก่อสร้างภายในปี 2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการในระยะแรกในปี 2573

สำหรับการศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง) มีวงเงินว่าจ้าง 67 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 30 เดือน (2 มี.ค.64-1 ก.ย.66) โดยจะมีการศีกษาความเหมาะสมทางเศรฐกิจ การเงิน วิศวกรรม สังคม, ออกแบบรายละเอียดเบื้องต้น และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม, จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562, วิเคราะห์จัดทำรูปแบบการพัฒนาและการลงทุน (Business Development Model)

แผนการศึกษาจะมีการพัฒนาท่าเรือ 2 ฝั่งทะเลอันดามันและระนอง โดยมีโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันเป็นระบบราง (รถไฟทางคู่) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) MR8 ระยะทางรวม 89.35 กม.ตามแนวเส้นทางจะมีอุโมงค์จำนวน 3 แห่ง (ระยะทางอุโมงค์รวม 21 กม.)

การพัฒนาท่าเรือ 2 แห่ง พบว่าจุดที่เหมาะสมฝั่งอันดามันอยู่ที่แหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง ส่วนฝั่งอ่าวไทยอยู่ที่แหลมริ่ว จังหวัดชุมพร โดยแต่ละท่าเรือจะพัฒนาเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 มีขีดความสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 20 ล้าน ที.อี.ยู. และระยะที่ 2 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 20 ล้าน ที.อี.ยู.รวมรองรับปริมาณตู้สินค้าฝั่งละจำนวน 40 ล้าน ที.อี.ยู. โดยเป็นท่าเรือที่ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ ขนส่งตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และสร้างความร่วมมือสร้างเศรษฐกิจกับชุมชนรอบท่าเรือ เมื่อเปรียบเทียบกับท่าเรือ TUAS ประเทศสิงคโปร์ ที่มีการพัฒนาในระยะที่ 1 รองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 20 ล้าน ที.อี.ยู.เช่นกัน

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง มีระยะทางรวม 109 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งมีรูปแบบการก่อสร้างในลักษณะอุโมงค์ระยะทาง 21 กม. โดยมีจุดเริ่มต้นฝั่งอ่าวไทยที่ท่าเรือแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร ผ่านแนวเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 89.35 กม. และมีจุดสิ้นสุดฝั่งอันดามันที่ท่าเรืออ่าวอ่าง จังหวัดระนอง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top