ครม.เคาะนโยบายและแผนบริหารจัดการที่ดิน 15 ปี เพิ่มพื้นที่ป่า 50% ของประเทศ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ พ.ศ.2566-2580 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้เป็นกรอบนโยบายและทิศทางในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศอย่างบูรณาการในระยะ 15 ปีข้างหน้า เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินระยะกลาง (5 ปี)

รวมทั้งสามารถนำไปขับเคลื่อนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเป็นไปอย่างเหมาะสม เป็นไปในเชิงรุก มีประสิทธิภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ โดยคำนึงถึงมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ รวมถึงสามารถสร้างความสมดุลและยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ ร่างนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินฯ จะมีนโยบายหลัก 4 ด้าน 19 ตัวชี้วัด 11 แนวทางการพัฒนาหลัก และ 17 แผนงานที่สำคัญ โดยนโยบายหลัก 4 ด้าน ได้แก่ นโยบายการสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพและการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ มีตัวชี้วัด เช่น จำนวนพื้นที่ที่มีการจัดทำเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐตามหลักเกณฑ์ One Map แล้วเสร็จ ที่ดินของรัฐถูกบุกรุกลดลง, นโยบายการใช้ที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีตัวชี้วัด เช่น สัดส่วนของที่ดินที่ถูกทิ้งร้างหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ลดลง, นโยบายการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน มีตัวชี้วัด เช่น สัดส่วนผู้ยากไร้ไม่มีที่อยู่อาศัยหรือที่ดินทำกินลดลง ระดับรายได้ของผู้ได้รับการจัดที่ดินเพิ่มขึ้น และนโยบายการบูรณาการและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างมีเอกภาพ มีตัวชี้วัด เช่น มีระบบฐานข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินที่ทันสมัยและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ขณะเดียวกัน ร่างนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินฯ ดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมายเป็นระยะในแต่ละนโยบายหลักทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1. นโยบายการสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ จะมีเป้าหมายประกอบด้วย เป้าหมายระยะ 5 ปี (ปี 2566-2570) เช่น ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแล้วเสร็จ

2. เป้าหมายระยะ 10 ปี (2571-2575) เช่น การลดปัญหาความขัดแย้งและข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนลดลง และที่ดินของรัฐถูกบุกรุกน้อยลง

3. เป้าหมายระยะ 15 ปี (2576-2580) เช่น พื้นที่ป่ามีสัดส่วน 50% ของพื้นที่ประเทศ

4. ผลลัพธ์สุดท้าย คือ แนวเขตที่ดินของรัฐมีความชัดเจน ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ดินของรัฐและทรัพยากรธรรมชาติมีความสมดุลและยั่งยืน และประชาชนได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศและมีส่วนร่วม

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปัญหาของระบบการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่ขาดเอกภาพในเชิงนโยบายและมีข้อจำกัดทางด้านกลไกและเครื่องมือ โดยอำนาจการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องด้านที่ดินกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน มีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องหลายคณะ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องบังคับใช้หลายฉบับ การบูรณากรการทำงานมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ขาดระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ

รวมถึงการจัดการที่ดินส่วนใหญ่ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าการแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ในระยาว จึงส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับที่เดิน เช่น การทับซ้อนของแนวเขตที่ดินของหน่วยงานต่างๆ ที่นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับภาครัฐ ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรรมในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน การกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน การไร้ที่ดินทำกิน การบุกรุกที่ดินของรัฐ การใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามศักยภาพของที่ดิน ตลอดจนการทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ ล้วนเป็นปัญหาที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top