ครม.รับหลักการเก็บภาษีหุ้นปีแรกครึ่งเดียวให้เวลา 3 เดือนรีดรายได้เข้ารัฐปีละ 1.6 หมื่นลบ.

ไตรศุลี ไตรสรณกุล

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่…) พ.ศ. … (การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ด้านแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ ได้อนุมัติในหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว แต่จะยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

“เป็นการผ่านในหลักการเฉยๆ ยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที น่าจะอีกนาน เพราะต้องมีขั้นตอนเข้ากฤษฎีกาอีก”

 แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวจาก ครม. เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ตามหลักการที่กระทรวงการคลังเสนอมาจะกลับไปเก็บภาษีในอัตรา 0.11% ตามกฎหมายเดิม หลังจากยกเว้นให้มานาน โดยในปีแรกจะจัดเก็บในอัตราเพียงครึ่งหนึ่ง หรือ 0.055% โดยจะให้เวลาเตรียมตัว 3 เดือนก่อนเริ่มเก็บจริง

ทั้งนี้ หลังจาก ครม.รับหลักการแล้วจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบก่อน ยังไม่เริ่มเข้าสู่กระบวนการจัดเก็บในขณะนี้

ขณะที่กระทรวงการคลังได้แจ้งยกเลิกการแถลงข่าวของ รมว.คลัง ในช่วงบ่ายวันนี้โดยไม่ได้แจ้งเหตุผล

รายงานข่าว ระบุว่า ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ระบุว่า ให้จัดเก็บภาษีขายหุ้นในอัตราครึ่งหนึ่งในปีแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 นับจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีระยะเวลาในการปรับตัวของผู้ขายหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์ประมาณ 3 เดือน หรือเก็บอัตรา 0.05% (0.055% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.66 และตั้งแต่ 1 ม.ค.67 จะจัดเก็บในอัตรา 0.1% (0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น)

มาตรการนี้จะทำให้รายได้ภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มขึ้นในปีแรกของการจัดเก็บประมาณ 8,000 ล้านบาท และในปีต่อ ๆ ไปของการจัดเก็บประมาณปีละ 16,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดหลักmรัพย์แห่งประเทศไทยและการออมเพื่อการเกษียณอายุ

อย่างไรก็ตาม อาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ของไทยสูงขึ้นจาก 0.17% เป็น 0.22% (ต้นทุนที่รวมทั้งการซื้อและการยาย) แต่ยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซียและฮ่องกง ขณะที่สูงกว่าของสิงคโปร์ ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่จากการศึกษากรณีตัวอย่างของต่างประเทศ ในฝรั่งเศสและอิตาลี คาดว่าจะส่งผลให้สภาพคล่องลดลงในระยะสั้นเท่านั้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 65)

Tags: ,
Back to Top