กฟผ. ร่วมลงทุน LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 กว่า 1.6 หมื่นลบ.

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าร่วมทุนในบริษัท LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ในสัดส่วน 50% โดยมีมูลค่าเงินลงทุนตามสัดส่วนไม่เกิน 16,350 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

สำหรับโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 นี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ลักษณะโครงการมีท่าเรือ 1 ท่า ถังเก็บ LNG 2 ถัง สามารถรองรับ LNG ได้ปริมาณ 7.5 ล้านตันต่อปี โดยมีภารกิจหลัก ในการดำเนินธุรกิจสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) รวมถึงการแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้มีสถานะกลายเป็นก๊าซ เพื่อจัดส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซ และส่งต่อให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมถึงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โดยเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2565

โครงสร้างการร่วมลงทุนบริษัท LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 จดทะเบียนจัดตั้งในไทย โดยมีผู้ถือหุ้น 2 ราย คือ กฟผ. (สัดส่วนการถือหุ้น 50%) และบริษัท PTTLNG (สัดส่วนการถือหุ้น 50%) มีมูลค่ากิจการอยู่ที่ประมาณ 46,900 -52,200 ล้านบาท

ส่วนผลตอบแทนการลงทุนกรณีได้รับการยกเว้นภาษี มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 6,012 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางการเงินของโครงการ (Project IRR) 8.5% อัตราผลตอบแทนของส่วนทุน (Equity IRR) 9.5% ระยะเวลาคืนทุน ของโครงการ 10 ปี 9 เดือน

ทั้งนี้ ถือเป็นการขยายธุรกิจในแนวดิ่งของ กฟผ. จากขั้นปลายน้ำ (Downstream) สู่ขั้นกลางน้ำ (Midstream) เนื่องจากบริษัทมีภารกิจหลักในการดำเนินธุรกิจสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) รวมถึงการแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้มีสถานะกลายเป็นก๊าซ เพื่อจัดส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และส่งต่อให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมถึงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ดังนั้น การร่วมทุนในบริษัทครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มความยึดหยุ่นในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของ กฟผ. ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ ครม. มีมติเห็นชอบให้ยกเว้นภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง การจัดตั้งบริษัท และการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการร่วมทุน เนื่องจากการดำเนินธุรกรรมดังกล่าว ทำให้เกิดภาระด้านภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งทำให้ต้นทุนโครงการและต้นทุนพลังงานของประเทศเพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องขอยกเว้นภาษีเบี้ยปรับเงินเพิ่มและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากการที่ กฟผ. เข้าร่วมร่วมลงทุนในครั้งนี้ คือ

1. กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในบริษัทรูปแบบเงินปันผล

2. เป็นโอกาสที่ดีให้ กฟผ. ได้เริ่มดำเนินธุรกิจให้บริการ LNG Receiving Terminal ซึ่งมีผู้ร่วมทุนเป็นผู้นำในธุรกิจ

3. บุลากรของ กฟผ. มีโอกาสในการพัฒนาความรู้ และประสบการณ์ในการดำเนินงานของ LNG Receiving Terminal จากผู้ร่วมทุนที่เป็นผู้นำในธุรกิจ

4. สนับสนุนนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ (การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ) โดยมีผู้ให้บริการสถานีและผู้นำเข้า LNG รายใหม่ ๆ (Third Party Access : TPA)

5. เพื่อเสริมความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าในประเทศ และเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub) ในอนาคต

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top