LiVE The Series: เดินหน้าเข้า LiveEx เล็งศึกษาพลังงานใหม่ สู่ผู้นำ EPC พลังงานทางเลือก

ตัวที่สอง LiVEx มาแล้ว !! บมจ.สิทรอน เพาเวอร์ (SITRON) ขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป 12 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 5.50 บาท ได้ฤกษ์เข้าเทรดใน LiVE Exchange ในวันนี้ (14 ธ.ค.65) ด้วยชื่อ SITRON22 ก่อนที่จะมุ่งหน้าก้าวต่อไปแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปี 67 เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

*SITRON คือใคร ?

SITRON แบ่งรูปแบบการให้บริการของบริษัทออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. การให้บริการด้านวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง และติดตั้ง (Engineering Procurement and Construction : EPC) : ให้บริการครบวงจร ตั้งแต่ออกแบบด้านวิศวกรรม จัดหาวัสดุอุปกรณ์ ก่อสร้าง และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปต่าง ๆ ทั้ง Solar Rooftop Solar Ground Mount และ Solar Floating
  2. การให้บริการด้านวิศวกรรม ก่อสร้าง และติดตั้ง (Balance of System : BOS) : แตกต่างกับแบบ EPC คือ BOS ลูกค้าจะเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์หลักเอง และบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการให้บริการออกแบบด้านวิศวกรรม ก่อสร้าง และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
  3. การให้บริการบำรุงรักษา (Operating and Maintenance : O&M) : ให้บริการบำรุงรักษา ปรับปรุง และซ่อมแซมระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยทีมวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์

*SITRON กับข้อได้เปรียบทางธุรกิจ

นางสาวประภารัตน์ ตังควัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SITRON เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า หัวใจสำคัญของธุรกิจเป็นเรื่องของการดีไซน์ โดยเฉพาะลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็น Roof Top การที่จะขึ้นไปติดตั้งบนบ้านหรือโรงงาน ต้องวางแผนค่อนข้างดี ตั้งแต่สำรวจอุปนิสัยการใช้ไฟ ความต้องการที่แท้จริง และต้องดูเรื่องธุรกิจของเขา เพื่อให้ออกมาเป็น Performance ที่ดีที่สุด

อีกส่วนหนึ่งคือเรื่อง Financial Discipline สำคัญมากสำหรับคนทำ EPC เพราะหากมีสภาพคล่องที่ไม่ต่อเนื่องก็ไม่สามารถรับงานได้ Track Record ก็จะไม่ดี ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง

“เทียบกับเจ้าอื่นเราอาจจะดูตัวเล็ก เจ้าอื่นอาจจะทำธุรกิจเกี่ยวกับ EPC มานาน แต่เราเชื่อว่าเราเป็นคนเดียวที่ทำ Solar EPC ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน เราไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย เราทำอยู่อย่างเดียวเลย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าว

*SITRON กับการเติบโต

เทรนด์สำคัญที่จะมาสนับสนุนธุรกิจของบริษัทให้เติบโตมากขึ้น คือเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนมีราคาถูกลง เรียกได้ว่า คนที่ติดและใช้ Solar ก็คุ้มค่าเร็วมากขึ้น จากนั้นเกิดการบอกปากต่อปาก เมื่อโรงงานหนึ่งติดแล้วประสบความสำเร็จ โรงงานอื่นก็ติดตาม

และแรงขับเคลื่อนที่มาจาก Developer รายต่าง ๆ ที่พยายามจะเข้ามาทำตลาดเรื่องของ Private PPA ก็ทำให้ดีมานด์เพิ่มเร็วขึ้น อันนี้เป็นส่วนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในอนาคตประเมินว่าภาคครัวเรือน (House Hold) ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่น่าสนใจ

“การติดตั้งต่อหน่วยในบ้านจริง ๆ ค่อนข้างแพง เพราะบ้านอยู่กระจายกัน ต้นทุนต่อหน่วยจึงสูง ในอนาคตถ้าเป็น Real Estate Developer ทำเอง ต้นทุนจะลดลงเยอะเลย เพราะยังไงก็ต้องติดตั้งหลังคาอยู่แล้ว ไม่ต้องขอใบอนุญาตใหม่ด้วย ขอตั้งแต่ก่อสร้างไปเลย ลูกบ้านก็น่าจะแฮปปี้เพราะช่วยประหยัดค่าไฟ” นางสาวประภารัตน์กล่าว

*SITRON กับแผนระดมทุน

  • ใช้ลงทุนในโครงการระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 28,943,000 บาท
  • ใช้เป็นเงินทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) จำนวน 9,648,000 บาท
  • ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน 25,726,640 บาท

*SITRON กับทิศทางในอนาคต

ถ้าประเมินปริมาณหลังคาของโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศก็ยังมีมากพอสมควรในการเติบโต 5-6 ปีข้างหน้า คิดว่าเงินระดมทุนราว 40% จะเป็นเงินลงทุนโครงการตรงนี้ และอีก 40% จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

“ส่วนที่เหลือราว 10-15% สำคัญมาก เราอยากจะเป็น EPC Solar เจ้าเดียวที่มี R&D เราอยากมี Testing Lab ของตัวเอง อยากมี Inhouse Training, External Training ให้กับผู้ใช้งาน โดยที่ SITRON จะเป็นผู้ Operated ตรงนี้” นางสาวประภารัตน์ กล่าว

ในช่วง 2-3 ปีนี้ SITRON ยังคงโฟกัสในเรื่องของ Solar PV อยู่ หากมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา เช่น การทำให้ติดตั้งในทุกพื้นผิวได้ บริษัทก็จะเป็นเจ้าแรกที่นำเข้ามาใช้

ขณะเดียวกัน SITRON ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษา Alternative Energy อื่น ๆ ที่จะสร้าง Efficiency ให้กับผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นลดใช้พลังงานในอาคาร หรือ ลดใช้พลังงานในการขนส่งต่าง ๆ และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า น่าจะเป็นธุรกิจที่เข้ามามีความสำคัญกับ SITRON ในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top