เตรียมรับแรงกระแทก! ศก.โลกแผ่ว ดึงส่งออกไทยปี 66 ชะลอแน่

Krungthai COMPASS ประเมินว่า ผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวชัดเจน โดยการส่งออกมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวในปี 2566 จากเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศหลัก เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ที่อยู่ในภาวะชะลอตัวและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย จากการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด ทำให้ต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้นท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในดับสูง ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แผ่วลง

สะท้อนจากเครื่องชี้กิจกรรมการผลิต (Manufacturing PMI) ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ต่อเนื่อง บ่งชี้ถึงภาคการผลิตที่มีแนวโน้มหดตัวในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ อุปสงค์ต่อสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคของโลกมีแนวโน้มชะลอลง หลังจากที่เติบโตได้ดีในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนหน้านี้ ทำให้ความต้องการสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคเปลี่ยนไปสู่ความต้องการในภาคบริการมากขึ้น และออเดอร์คงค้าง (backlog order) ได้ทยอยคลี่คลาย

“ปัจจัยเหล่านี้ จึงกดดันให้การส่งออกของไทยในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตได้ในระดับต่ำ สอดคล้องกับ Oxford Economics ที่ประเมินว่าปริมาณการค้าโลกในปี 2566 จะหดตัว 0.2% โดยกลุ่มประเทศในแถบเอเชีย จะได้รับผลกระทบมากที่สุด” บทวิเคราะห์ระบุ

โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน พ.ย.65 อยู่ที่ 22,308 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวต่อเนื่องที่ 6.0%YoY จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 4.4%YoY ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง จากการชะลอตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น จีน อาเซียน-5 และ CLMV

ขณะที่การส่งออกของไทยในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.65) ขยายตัว 7.6% ส่วนการส่งออกทองคำเดือนนี้ กลับมาหดตัว 54.4% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้หดตัว 5.2%YoY

ด้านตลาดส่งออก พบว่าตลาดใหญ่ยังหดตัวต่อเนื่อง เช่น ตลาดจีน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ -9.9%, ตลาดญี่ปุ่น หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ -4.6%YoY และตลาดอาเซียน 5 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -15.5% ส่วนตลาดสหรัฐ และตลาดยุโรป ขยายตัวได้เล็กน้อย

ส่วนมูลค่าการนำเข้าเดือน พ.ย. อยู่ที่ 23,650 ล้านดอลลาร์ฯ กลับมาขยายตัว 5.6%YoY จากเดือนก่อนที่หดตัว 2.1%YoY จากการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวเร่งขึ้น (+50.6%YoY) ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (-10.7%YoY) และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-1.7%YoY) หดตัวต่อเนื่อง

ส่งผลให้การนำเข้ารวม 11 เดือนแรกขยายตัว 16.3% ด้านดุลการค้าเดือน พ.ย. ขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ระดับ -1,342 ล้านดอลลาร์ฯ โดยดุลการค้า 11 เดือนแรกขาดดุลสะสม 15,089 ล้านดอลลาร์ฯ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ธ.ค. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top