ไทยปรับอัตราการคืนเงินเพิ่มให้ผู้สร้างหนัง จูงใจยกกองถ่ายมาไทย

ไตรศุลี ไตรสรณกุล

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขมาตรการส่งเสริมตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอได้แก่

 

– ส่วนที่ 1 ปรับอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) จากเดิม 15-20% เป็น 20-30% เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยสิทธิประโยชน์หลักอยู่ที่ 20% เมื่อมีการลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ส่วนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกิน 10% ซึ่งหลังจากนี้ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการปรับปรุงประกาศกรมการท่องเที่ยวในส่วนของเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมดังกล่าว โดยให้คำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยโดยตรงเป็นลำดับแรก เช่น การกระจายรายได้สู่เมืองรอง การเพิ่มการจ้างงานคนไทย การเพิ่มมูลค่า ค่าใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประชาชนโดยตรง

 

-ส่วนที่ 2 เป็นการปรับเพิ่มเพดานการคืนเงินจากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่อง เป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง ซึ่งจะทำให้เพดานเงินลงทุนสร้างภาพยนต์ต่อเรื่องเพิ่มเป็น 750 ล้านบาท จากเดิม 375 ล้านบาท เพื่อรองรับแนวโน้มที่คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาในไทยเป็นผู้สร้างรายใหญ่ เงินทุนสูง โดยเฉพาะภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ โดยเรื่องที่เข้ามาถ่ายทำในไทยสูงสุดขณะนี้คือภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์เรื่อง Thai Cave Rescue

 

“เนื่องจากปัจจุบันประเทศต่างๆ เห็นประโยชน์จากธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) หรือคืนภาษี (Tax Rebate/Tax Credit) เพื่อดึงดูดผู้สร้างภาพยนตร์ให้เข้าไปถ่ายทำในประเทศตนอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับเกณฑ์และเงื่อนไขให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

ทั้งนี้ การปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยทั้ง 2 ส่วน ส่งผลต่อภาระงบประมาณในปี 67-68 (มาตรการมีผลในปี 66 แต่การคืนเงินจะเกิดขึ้นในปี 67-68) รวม 2 ปี เพิ่มขึ้นจาก 821.82 ล้านบาท เป็น 1,845 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 44.54%

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพกว้าง มีเงินจากการลงทุนของบริษัทภาพยนตร์หมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น 900-1,200 บาทต่อปี กระจายรายได้ไปสู่ภาคส่วนต่างๆ และการที่ชาวไทยได้ร่วมงานกับคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศนอกจากจะให้คนไทยได้รับการจ้างงานเพิ่มกว่า 800 อัตราต่อปี ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มทักษะและประสบการณ์ เป็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสู่ระดับสากลด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มมีมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติมาตั้งแต่ปี 60 ซึ่งได้มีคณะถ่ายทำได้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 62 ก่อนเกิดโควิด-19 ประเทศไทยมีรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ 4,463.74 ล้านบาท ส่วนปี 64 ที่ยังมีโควิด-19 ผู้สร้างภาพยนตร์ก็ยังคงเข้ามาถ่ายทำในไทยสร้างรายได้ 5,007 ล้านบาท

นับแต่มีมาตรการดังกล่าวได้มีภาพยนตร์ 43 เรื่องที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในไทย 8,560 ล้านบท มีภาพยนตร์ที่ได้รับอนุมัติสิทธิประโยชน์ 34 เรื่อง เงินลงทุน 6,283 ล้านบาท โดยเงินเหล่านี้กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย เช่น ค่าจ้างทีมงานชาวไทย ค่าเช่าเครื่องมืออุปกรณ์ ค่าเช่าที่พัก ค่าเช่าสถานที่ ค่าเช่ารถ ค่าใช้จ่ายตามมาตรการป้องกันโควิด ค่าอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

โดย ณ สิ้นเดือน ต.ค.65 รัฐบาลได้จ่ายเงินคืนภายใต้มาตรการดังกล่าวแล้วจำนวน 29 เรื่อง เป็นเงิน 772.13 ล้านบาท เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณกระทรวงการท่องเที่ยวฯ 560.03 ล้านบาท และจากการจัดสรรงบกลางเพิ่มเติม 212.10 ล้านบาท

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top