International SOS เตือนปี 66 โลกผันผวนจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ-ค่าครองชีพพุ่ง

รายงานภาพรวมแนวโน้มความเสี่ยงทั่วโลกประจำปี 2566 (Risk Outlook 2023 report) และแผนที่ความเสี่ยงทั่วโลก (global risk map) ฉบับปรับปรุงใหม่ของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS) เปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั่วโลกอาจจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เนื่องจากปัญหาค่าครองชีพและสถานการณ์ความมั่นคงที่เป็นอุปสรรคและส่งผลกระทบต่อพนักงาน

ข้อมูลที่ได้มาจากการสำรวจความคิดเห็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสด้านความเสี่ยงจำนวน 1,218 คน ใน 108 ประเทศ ซึ่งให้มุมมองโดยละเอียดเกี่ยวกับความเสี่ยงที่สำคัญบางประการที่องค์กรต้องรับมือในปี 2566 นอกเหนือไปจากปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เช่น ปัญหาสุขภาพจิตแล้ว อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้แหล่งข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำของผู้นำองค์กรเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” (perma-crisis) ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางการแพทย์และความมั่นคงปลอดภัยจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมาจัดอันดับความเสี่ยงตั้งแต่ระดับ “เล็กน้อย” ไปจนถึง “รุนแรง”

สรุปแนวโน้ม 5 อันดับแรกที่องค์กรต่าง ๆ พึงตระหนักในปี 2566 ไว้ดังนี้

1. ข้อมูลที่ทันเหตุการณ์ ถูกต้อง เชื่อถือได้และนำไปปฏิบัติได้จริง คือ พลังของข้อมูลเชิงลึกที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ

2. การปรับตัวเข้าสู่โหมด ‘วิกฤตซ้อนวิกฤต’ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม และการแบ่งขั้วที่เพิ่มสูงขึ้น

3. วางแผนเพื่อรับมือกับสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้: ผู้เดินทางต้องการความช่วยเหลือมากขึ้นกว่าเดิม

4. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัจจัยอื่น ๆ ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบอย่างมากมายในวงกว้าง จึงจำเป็นต้องมีวิธีการที่ครอบคลุมในการเข้าถึงประกันสุขภาพ

5. สมการความสุขในการทำงาน (A+B+C)-D: สุขภาพจิตในที่ทำงานยุคใหม่

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นประเด็นที่กำหนดสถานการณ์ความมั่นคงของโลกในปี 2565 ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นว่า เพราะเหตุใดภูมิรัฐศาสตร์และภัยคุกคามจากความขัดแย้งระหว่างประเทศจึงกลับมาเป็นประเด็นความเสี่ยงที่องค์กรต้องจับตา ความขัดแย้งจะยังคงส่งผลกระทบต่อโลกอย่างแน่นอนในปี 2566 ดังนั้นองค์กรจึงควรเรียนรู้วิธีการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพกับสภาพความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น ความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์จะแผ่ขยายออกจากรัสเซีย/ยูเครนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในอีก 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากรอยร้าวที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความขัดแย้งอื่น ๆ และทำให้ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานทวีความรุนแรงขึ้น

นอกจากการแบ่งขั้วอย่างเห็นได้ชัดระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกแล้ว การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนจะเป็นประเด็นที่ครอบงำภูมิทัศน์ด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งวิธีการดำเนินการที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรคือการทบทวนความเป็นไปได้และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำความเข้าใจถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจและพนักงานขององค์กร

ทั้งนี้ การจัดอบรม การลงทุน และการให้การสนับสนุนในระดับที่เหมาะสมแก่ทีมบริหารจัดการวิกฤตจะเป็นประโยชน์สำหรับองค์กรในปี 2566 โดยผู้เชี่ยวชาญแนะให้องค์กรต่าง ๆ หันมาใส่ใจทีมงานเหล่านี้ซึ่งแบกรับความเหนื่อยล้ากับการจัดการภาวะวิกฤต เพราะการบรรเทาความเหนื่อยล้าในการจัดการภาวะวิกฤตเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้องค์กรสามารถถอนตัวออกจากโหมด ‘วิกฤตซ้อนวิกฤต’ ไปสู่การฟื้นตัวจากวิกฤตได้ และองค์กรที่สามารถเรียนรู้จากบทเรียนที่ได้รับในช่วงสองปีที่ผ่านมา จะมีขีดความสามารถที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในการจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ

ผลการสำรวจที่ได้เน้นย้ำในที่นี้ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญหลายรายคาดการณ์ว่าความไม่สงบในสังคมจะเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียประสิทธิภาพการทำงานในปี 2566 ตัวอย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญ 48% คาดการณ์ว่า แรงกดดันด้านค่าครองชีพจะส่งผลกระทบต่อพนักงานในประเทศ และ 33% มองว่าเหตุการณ์ความไม่สงบทางสังคมจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่เดินทางเพื่อทำธุรกิจ

นับเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดว่า ความไม่สงบทางสังคมกำลังจะกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้บริหารระดับสูง (C-suite) ต้องพิจารณาเพื่อหาทางรับมือในปี 2566 เนื่องจากปัญหาดังกล่าวมีหลากหลายแง่มุม ซึ่งส่งผลกระทบต่อองค์กรและพนักงานในหลาย ๆ ด้าน

ทั้งนี้ หัวข้อและประเด็นสำคัญ ๆสำหรับปี 2566 ได้แก่:

– ความผันผวนในตลาดพลังงานและการเกษตรจะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เศรษฐกิจเปราะบาง ไม่มั่นคง ซึ่งประเทศหรือภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงสุด คือ กลุ่มประเทศแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) อียิปต์ เลบานอน

– ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจหรือการเมืองจะกระตุ้นให้ประชาชนไม่พอใจและความไม่พอใจนี้จะขยายวงกว้าง และมีแนวโน้มว่าสถานการณ์ความไม่สงบจะรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ได้แก่ ปากีสถาน ศรีลังกา เอกวาดอร์ เปรูและอิรัก

– การแบ่งขั้วอำนาจในระดับโลกจะนำไปสู่การแบ่งขั้วอำนาจภายในประเทศมากยิ่งขึ้น และจะกระตุ้นให้เกิดความไม่สงบทางสังคมจนทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด จะกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงและอาชญากรรมในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ประเทศหรือภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และยุโรปตะวันตก

ผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันจากสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงแล้ว ในปี 2566 องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลายระดับ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีส่วนทำให้เกิดโรคติดเชื้อชนิดใหม่ หรือทำให้โรคติดเชื้อที่มีอยู่เดิมกลับมาเกิดซ้ำเร็วขึ้น ดังจะเห็นได้จากการระบาดที่ “ผิดปกติ” หลายครั้งในศตวรรษที่ 21 ซึ่งรวมถึงโรคซาร์ส อีโบลา โควิด-19 และฝีดาษลิง บทบรรยายสรุปที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ ไคลเมต เชนจ์ (Nature Climate Change) เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ประมาณการว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจเป็นสาเหตุให้โรคติดเชื้อมากกว่าครึ่งที่พบในมนุษย์มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.พ. 66)

Tags: ,
Back to Top