“บิ๊กป้อม” สั่งเร่งสำรวจ-เตรียมแหล่งน้ำสำรอง แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ รองรับพื้นที่ EEC

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวระหว่างนำคณะลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกว่า ตนให้ความสำคัญเร่งด่วนต่อการแก้ปัญหาเรื่องน้ำมาโดยตลอด โดยมอบนโยบายกำหนดมาตรการรองรับฤดูแล้ง เน้นปฏิบัติงานเชิงรุก และเตรียมความพร้อมก่อนถึงฤดูแล้ง เช่น การประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำอุปโภค-บริโภคและการเกษตร และการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ส่งผลให้ในช่วงปี 62-63 กรมป้องกันและบรรสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศภัยแล้งลดลงตามลำดับ กระทั่งปี 64-65 ปภ.ไม่มีการประกาศว่ามีพื้นที่ใดประสบภัยแล้งอีกเลย

สำหรับจังหวัดตราด พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก มีลำน้ำสำคัญ คือแม่น้ำตราด และมีฝนตกชุกเกือบตลอดปี มีโครงการสำคัญที่รัฐบาลสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมและแก้ปัญหาภัยแล้ง ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ได้แก่ โครงการแก้มลิงฉุงใหญ่ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ 1,000 ไร่ 1,244 ครัวเรือน และยังช่วยชะลอการไหลของน้ำ บรรเทาการเกิดอุทกภัยพื้นที่ตอนล่าง, โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูคลอง ทรายขาว-หนองหวีด-คุ้งกะปาง ช่วยพื้นที่เกษตรได้ 6,000 ไร่ รวมถึงโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการคุณภาพน้ำบริโภค และโครงการงานปิดกั้นคันดินกั้นน้ำเค็มชั่วคราว คลองเวฬุ-ท่าเสมอ เป็นต้น

พล.อ.ประวิตร ได้มอบนโยบายที่สำคัญให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.), กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำ, จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อนโครงการน้ำให้แล้วเสร็จตามแผนงานโดยเร็ว รวมถึงเข้มงวด 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน ตามแนวทางพระราชดำริ ร.9 และตรงกับความต้องการของประชาชน รวมทั้งเตรียมแหล่งน้ำสำรอง โดยเฉพาะให้เร่งรัดโครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนด รองรับพื้นที่ EEC ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและประเทศชาติต่อไป

นอกจากนี้ยังมอบหมายให้กรมชลประทานเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยสะตอ จ.ตราด ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มความจุน้ำกักเก็บได้ 56.55 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 75,490 ไร่ ปัจจุบันศึกษาและออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการขอใช้พื้นที่ รวมทั้งให้ตรวจสอบและเตรียมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ในโครงข่ายน้ำ EEC ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานด้วย และให้กรมทรัพยากรน้ำ เร่งสำรวจและก่อสร้างโครงการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำอย่างเต็มศักยภาพให้แล้วเสร็จโดยเร็ว อีกทั้งกำชับให้จังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือในการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ และเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำให้เป็นรูปธรรมและยกระดับคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐาน พร้อมเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้ให้กับภาคประชาชน เพื่อความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.พ. 66)

Tags: , ,
Back to Top