THCOM ปักธงรายได้ปี 66-67 โตเฉลี่ย 10% ก่อนพุ่งก้าวกระโดดปี 70 รับดาวเทียมใหม่โต 3 เท่า

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม (THCOM) คาดว่ารายได้ของบริษัทในปี 66-67 จะเติบโตปีละ 10% จากปี 65 ที่มีรายได้ 2.9 พันล้านบาท ก่อนโตก้าวกระโดดในปี 70 หลังจากดาวเทียมดวงใหม่ 3 ดวงโดยมี Capacity มากกว่า 3 เท่าของดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งจะหมดอายุในเดือน ก.ย.67

ขณะที่ EBITDA Margin ในปี 66 คาดว่าจะสูงกว่าปี 65 ที่มีอัตรา 41% โดยในปีนี้บริษัทก็ยังคงไม่มีต้นทุนของค่าเสื่อมดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6

นายปฐมภพ กล่าวว่า หลังจากบริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย (ถือ 100%) ชนะการประมูลสิทธิการใช้วงโคจรโคจรดาวเทียม 2 ชุด คือ ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก และตำแหน่งวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก ทำให้ความเชื่อมั่นของลูกค้ามากขึ้นที่บริษัทจะมีการให้บริการดาวเทียมต่อเนื่อง และเตรียมเข้ามาซื้อบริการมากขึ้น โดยระหว่างนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าหลายรายหลายประเทศ โดยเฉพาะอินเดียที่ยังมีดีมานด์อยู่มาก คาดว่าจะสามารถสรุปความชัดเจนในครึ่งหลังปี 66

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติการลงทุนสร้างดาวเทียมครั้งนี้ไม่เกิน 15,203 ล้านบาท โดยจะสร้างดาวเทียมบนตำแหน่งวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก เป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ แต่เนื่องจากใกล้วันสิ้นสุดอายุสัมปทานปลายปี 67 บริษัทจะสร้างดาวเทียม 3 ดวง โดยเป็นดาวเทียมดวงเล็ก (10Gps) จำนวน 2 ดวง มูลค่าดวงละ 2.2 พันล้านบาท ระยะเวลาสร้าง 18 เดือน และดาวเทียมดวงใหญ่ (100Gps) จำนวน 1 ดวง มูลค่า 7.9 พันล้านบาท ระยะเวลาสร้าง 4 ปี โดยรวมขนาดดาวเทียม 3 ดวงรวมกันจะใหญ่กว่าดาวเทียมไทยคม 4 ถึง 3 เท่า

ดาวเทียมดวงเล็กจะรองรับการใช้งานในประเทศไทย ส่วนอีกดวงรองรับการใช้งานในอินเดีย ซึ่งทั้งสองประเทศมีปริมาณการใช้งานสูง คาดว่าเริ่มรับรู้รายได้ในปลายปี 67 ทั้งนี้ ดาวเทียมดวงเล็กมีอายุการใช้งาน 8 ปี ขณะที่การใช้งานในประเทศอื่น บริษัทจะเช่าดาวเทียมต่างประเทศมาใช้ชั่วคราว ส่วนดาวเทียมดวงใหญ่จะเริ่มรับรู้รายได้ในครึ่งปีหลังปี 70 อายุการใช้งาน 15 ปี โดยระหว่างนี้กำลังคัดเลือกผู้ผลิตดาวเทียม ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก โดยในรายละเอียดการสร้างดาวเทียมใหม่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทภายในเม.ย.นี้ และคาดว่าใน 2-3 เดือนน่าจะสรุปและเริ่มดำเนินการได้

ที่สำคัญดาวเทียมใหม่บริษัทจะโฟกัสตลาดมากขึ้นให้เหลือประมาณ 7 ประเทศ ก็มีไทย อินเดีย Southeast Asia ญี่ปุ่น จากเดิมดาวเทียมไทยคมา 4 รองรับตลาด 14 ประทศ โดยตัดจีน ออสเตรเลีย เพราะมีดาวเทียมเป็นของตัวเองแล้ว นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่สามารถปรับพื้นที่การให้บริการได้ ทำให้การทำตลาดยืดหยุ่นได้ ทำให้ความเสี่ยงการทำกำไรกับธุรกิจน้อยลง สามารถต่อยอดตลาดที่บริษัทมี หรือตลาดที่บริษัทรู้จักดี

ส่วนการสร้างดาวเทียมในตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก นายปฐมภพ กล่าวว่า แม้ว่าเดิมจะเป็นดาวเทียมบรอดคาสท์ แต่บริษัทจะดำเนินการให้เป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ที่ยังมีความต้องการใช้สูง ซึ่งขณะนี้ บรอดแบนด์มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี บริษัทยังมีเวลาพิจารณา 1 ปี โดยเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้บริษัทยิงดาวเทียมภายใน 3 ปี นับแต่วันได้รับใบอนุญาต (ม.ค. 66)

ปัจจุบัน ไทยคม มีส่วนแบ่งตลาดดาวเทียมบรอดแบนด์เป็นอันดับ 1 หรือมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 40% ซึ่งไทยคมเป็นเจ้าแรกทีมี ดาวเทียมบรอดแบนด์ พร้อมตั้งเป้าให้ THCOM ก้าวขึ้นเป็ฯ TOP10 ในวงการดาวเทียม จากปัจจุบันอยู่ TOP15

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM กล่าวว่า ธุรกิจดาวเทียมยังคงเป็นธุรกิจหลักของบริษัท สัดส่วนรายได้มากกว่า 90% โดยมีสัดส่วนรายได้จากในประเทศและต่างประเทศ 50:50 แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าสัดส่วนายได้ต่างประเทศจะโตขึ้นมาเป็น 75% และในประเทศจะลดลงมาที่ 25% ขณะเดียวกันก็จะเริ่มมีรายได้จากธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) และ ธุรกิจ Space Tech ที่คาดว่าจะเข้ามาอย่างมีสาระสำคัญในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

“ภาพ THCOM จะเปลี่ยนแปลง หลังจากเราชนะประมูลดาวเทียม ซึ่งธุรกิจดาวเทียมจะเป็นพื้นฐานในการเติบโต เป็นธุรกิจเดิมที่ต่อยอดขายเดิม ส่วนธุรกิจ LEO และ Space Tech จะทำให้บริษัทเติบโตขึ้น บริษัทจะเป็นอินเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเป็นบริษัท Regional เป็น Space Tech Company … ธุรกิจ LEO และ Space Tech จะเป็น Area ที่ใหญ่กว่าเยอะถ้าสำเร็จ ความต้องการมีแนวโน้มเติบโต” นายปฐมภพ กล่าว

ทั้งนี้ ธุรกิจดาวเทียม LEO ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ ได้เจรจาหาพันธมิตรเพิ่มเติมอีก 2 ราย คาดว่าจะจบดีลได้อย่างน้อย 1 ราย หลังจากบริษัทได้เป็นพันธมิตรกับบริษัท โกลบอลสตาร์ (Globalstar, Inc.) ผู้ให้บริการระดับโลกด้านการสื่อสารผ่านดาวเทียมและโซลูชั่น IoT จาก สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมี.ค.65

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มี.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top