วิกฤติ SVB ยังส่ง Sentiment ลบถึง SET วันนี้ โบรกฯเชื่อปัญหาไม่ลุกลาม-โอกาสเฟดลดยาแรง

บล.ไอร่า มองว่า ตลาดหุ้นวันนี้จะได้รับ Sentiment เชิงลบจากตลาดต่างประเทศ จากการที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากของสหรัฐ (Federal Deposit Insurance Corporation : FDIC) สั่งปิด Silicon Valley Bank (SVB) จากปัญหาการขาดทุนของ SVB ซึ่งมีสาเหตุจากการได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วสู่ระดับปัจจุบันที่ 4.75% จาก 0.25% ภายในระยะเวลาแค่ 1 ปี ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้นทำให้ SVB มีรายการขาดทุนจากการขายพันฐบัตร รวมทั้งกลุ่มผู้กู้เงินของ SVB เป็นลูกค้าในกลุ่ม Start Up ซึ่งเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีความอ่อนไหวต่อทิศทางดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี เช้านี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และกระทรวงการคลังสหรัฐประกาศมาตรการคุ้มครองเงินฝากของประชาชนที่ฝากไว้กับ SVB รวมทั้งจัดตั้งโครงการ Bank Term Funding Program เพื่อเปิดทางให้ภาครัฐส่งเงินสนับสนุนด้านการฝากเงินได้มากขึ้น โดยเสนอเงินกู้อายุ 1 ปีให้กับสถาบันทางการเงินประเภทต่างๆ โดยต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันอาทิ พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ หรือตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) และคาดว่าเฟดอาจจะมีการอนุญาตให้ธนาคารฯ ไม่ต้องนำผลขาดทุนจากพันธบัตรไปคำนวณเงินกองทุนชั่วคราว คาดจะช่วยผ่อนคลายความกังวลในการลุกลามของปัญหาที่มีความคล้ายคลึงกันหรือได้รับผลกระทบจาก SVB ได้บ้าง

ในอีกมุมหนึ่งคาดว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นปัจจัยช่วยให้ตลาดพูดคุยกันเกี่ยวกับการลดยาแรงของเฟดลงในระยะถัดไป จากการที่ผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเริ่มส่งผลกระทบที่รุนแรงกับธนาคารฯ ในสหรัฐบ้างแล้ว คาดอาจจะเริ่มชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยลงบ้าง หรือการปรับอัตราดอกเบี้ยลงเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ คาดจะส่งผลให้ตลาดเริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นได้ในระยะถัดไป

ขณะที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน ก.พ. (Nonfarm Payroll) ออกมาที่ระดับ 3.11 แสนตำแหน่งมากกว่าที่ตลาดคาดที่ 2.25 แสนตำแหน่งแต่ชะลอตัวลงบ้างหลังปรับตัวขึ้นแรงในช่วงเดือน ม.ค. ที่ระดับ 5.17 แสนราย ในส่วนของตัวเลขอัตราการว่างงานเดือน ก.พ. ปรับตัวขึ้นอยู่ที่ระดับ 3.6% สูงกว่าที่ตลาดคาด หนุนให้เฟดอาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยได้เช่นกัน

สัปดาห์นี้คาดว่าตลาดจะยังคงติดตามการรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพื่อประเมินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้ง โดยล่าสุด CME FED Watch Tools บ่งชี้ตลาดคาดการณ์เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเพียง 0.25% ในเดือน มี.ค. ที่โอกาส 80.0% บวก/ลบ จากก่อนหน้าคาดที่ 0.50% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ระดับเพียง 5.00-5.25% จากก่อนหน้าที่ระดับ 5.50-5.75% คาดจะเป็นปัจจัยบวกต่อทิศทางราคาสินทรัพย์เสี่ยงในระยะกลาง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มี.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top