อีสท์สปริง เชื่อวิกฤต SVB ไม่เกิด Domino Effect เปิดช่องเข้าลงทุนระยะยาว

บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) ระบุถึงเหตุการณ์ปิด Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐฯ

ว่า ปัญหาของ SVB เกิดจากการบริหารสภาพคล่องเป็นหลัก ในกรณีของธนาคารทั่วไปจะดำเนินธุรกิจด้วยการรับเงินฝากและปล่อยกู้ในหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ให้ธุรกิจสินเชื่อประเภทต่างๆเช่น สินเชื่อบุลคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย รวมทั้งยังมีเครื่องมือลงทุนอีกมากมายสำหรับเงินสดส่วนเกิน แต่ในส่วนของ SVB ยึดมั่นว่าตัวเองเป็นธนาคารเพื่อ Start-Up ทำให้มีฐานลูกค้าที่น้อยกว่า ในช่วงที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ลูกค้า Start-Up ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาในการเพิ่มทุน ซึ่งทำให้ SVB ได้รับเงินฝากจากลูกค้ากลุ่มนี้จำนวนมาก จึงจำเป็นต้องนำเงินฝากส่วนที่เหลือไปลงทุนซื้อพันธบัตรและหุ้นกู้ระยะยาวเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเพียงพอต่อการจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก

ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2022 ที่ผ่านมา ราคาพันธบัตรระยะยาวที่ธนาคารถือปรับตัวลงอย่างรุนแรง ขณะที่ลูกค้าของ SVB ซึ่งเริ่มระดมทุนได้ยากขึ้นและทยอยถอนเงินไปพยุงกิจการ ทำให้ SVB ถูกบังคับขายพันธบัตรในราคาขาดทุนเพื่อนำเงินมาจ่ายคืนผู้ฝากและรักษาสภาพคล่องไว้ ซึ่งแท้จริงแล้วหากถือพันธบัตรได้จนครบอายุ SVB ก็จะได้เงินคืนครบเต็มจำนวน อีกทั้งธนาคารยังไม่พบการผิดนัดชำระหนี้จากการปล่อยสินเชื่อของ SVB เองและถือเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีหนี้เสีย (NPLs) อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

ปัญหานี้จะลุกลามเหมือนช่วง Financial Crisis หรือไม่?

นักลงทุนในตลาดต่างตื่นตระหนกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจลุกลามไปเป็นเหมือนวิกฤต Lehman Brothers ในปี 2551 แต่หากพิจารณาการดำเนินธุรกิจแล้ว SVB ถือเป็นธนาคารที่ระมัดระวังการลงทุนค่อนข้างมาก โดยสินทรัพย์ที่นำเงินฝากไปลงทุนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มตราสารหนี้ พันธบัตร และตราสารที่มีสินทรัพย์ค่ำประกัน (mortgage-backed securities) ซึ่งแตกต่างจาก Lehman Brothers ที่นำเงินไปปล่อยกู้ให้กับสินเชื่อบ้านคุณภาพต่ำ (Subprime Mortgage) เกินตัว จนนำมาสู่การล้มละลายจากปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ไม่ดี ซึ่งล่าสุด จากการที่ทางการออกมาตรการเข้าช่วยเหลือทันที อาจเรียกได้ว่าเหตุการณ์นี้ได้ปิดประตูผลกระทบที่จะเป็น Domino Effect ไปแล้วทันที

เรามองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการบริหารสภาพคล่องที่ผิดพลาดเฉพาะตัวของบริษัท และจะไม่นำไปสู่ Domino Effect เหมือนที่เกิดขึ้นในปี 2551 ประกอบกับท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯที่พร้อมเข้าดูแลความเชื่อมั่นในทันที โดยล่าสุดกระทรวงการคลังสหรัฐฯ, ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และ Federal Deposit Insurance Corp. ร่วมกันแถลงถึงมาตรการเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบธนาคาร และเสริมสร้างสภาพคล่องให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

โดยทางด้านนางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลัง สหรัฐ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวต้องการจะปกป้อง “ผู้ฝากเงินทั้งหมด” ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณช่วยเหลือผู้ที่มีบัญชีเงินฝาก โดยผู้ฝากเงินของ SVB จะสามารถเข้าถึงเงินทั้งหมดของพวกเขาได้ ทั้งนี้ยังได้เสริมอีกว่า ผู้เสียภาษีจะต้องไม่รับผิดชอบต่อการสูญเสียใดๆที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาของ SVB รวมถึงธนาคารอื่นที่อาจเป็นเช่นเดียวกัน รัฐบาลระบุในแถลงการณ์

ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวอาจสร้างความกังวลให้กับตลาดหุ้นได้บ้างในระยะสั้นได้บ้าง แต่มองเป็นโอกาสเข้าลงทุนในระยะยาว

รวมถึงรอดูท่าที่ของเฟดว่าจะมีการดำเนินนโยบายอย่างไรในการประชุมวันที่ 22 มีนาคมนี้ ซึ่งล่าสุดทั้ง Bond Yield 2 ปี และ Terminal Rates ต่างปรับลดลงซึ่งสะท้อนการลดความ Hawkish ลงของ Fed ในช่วงเวลานี้ ซึ่งอาจช่วยลดความตึงเครียดและความวิตกของนักลงทุนจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มี.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top