ซีเซียม-137 หาย อันตรายแค่ไหน!

จากกรณีวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หายไปจากบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ ในจ.ปราจีนบุรี เมื่อหลายวันที่ผ่านมา และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่พบ จึงมีการระดมหน่วยงานและติดตามการค้นหาวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ดังกล่าว

เนื่องจาก ซีเซียม-137 หากจะสลายตัวให้รังสีบีตาและแกมมา ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสรังสีปริมาณมากแบบทั้งร่างกาย จะทำให้เกิดความผิดปกติจากการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการ คือ ระบบผลิตเลือด ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาทกลาง

โดยปกติซีเซียม-137 มีลักษณะเป็นของแข็ง คล้ายผงเกลือ สามารถฟุ้งกระจายได้เมื่อแตกออกจากที่ห่อหุ้มไว้ ถูกนำมาใช้งานต่างๆ เช่น ในอุปกรณ์วัดความชื้น วัดอัตราการไหลของเหลว วัดความหนาวัสดุ เป็นต้น

ส่วนกรณีที่ได้รับรังสีบางส่วน หรือปริมาณไม่สูง จะทำให้เกิดอาการด้านผิวหนังจากรังสี โดยมีปัจจัยที่สำคัญคือ ปริมาณรังสีที่ได้รับ ระยะเวลาสัมผัส ระยะห่างจากแหล่งกำเนิดรังสี และการใช้อุปกรณ์ป้องกันรังสี

ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย ได้หลุดออกจากเครื่องกำบัง ดังนั้น การได้รับปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาจากซีเซียม-137 เป็นระยะเวลาสั้นๆ จะไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายที่เห็นผลชัดเจนในทันที แต่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยหากมีการชำแหละส่วนกล่องโลหะ อาจทำให้รังสีมีการการสัมผัสและการปนเปื้อนรังสีมากขึ้นได้

ทั้งนี้ เมื่อสงสัยว่าสัมผัสปนเปื้อนรังสี การลดการปนเปื้อน สามารถทำได้ทั้งแบบแห้งและเปียก เช่น การปัดออก เปลี่ยนเสื้อผ้า หรือล้างด้วยน้ำ เพื่อเป็นการปกป้องผู้สัมผัส ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และสถานที่

หากผู้ใดมีอาการสงสัยจากการสัมผัสรังสี เช่น ผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย รวมทั้งการเข้าใกล้หรือสัมผัสวัตถุต้องสงสัย ให้รีบประสานอาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือพบแพทย์ที่สถานพยาบาล

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุผ่านเฟซบุ๊กวันนี้ว่า หากประชาชนพบเห็นอุปกรณ์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ความยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม ขอให้โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ที่สายด่วนแจ้งเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี โทร 1296

โดยผู้ชี้เบาะแสนำวัตถุกัมมันตรังสีที่สูญหายกลับมาได้ จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมเตือนประชาชนสังเกตและหลีกเลี่ยงวัสดุที่คล้ายคลึง รวมถึงงดสัมผัสหรือเปิดวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 เพื่อลดเสี่ยงได้รับอันตราย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top