เลือกตั้ง’66: เพื่อไทย เตรียมร่างรัฐธรรมนูญใหม่หากได้เป็นรัฐบาล

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการด้านประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม และความเสมอภาคเท่าเทียมฯ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการด้านประชาธิปไตยฯ ครั้งแรกในวันนี้มีมติใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะมีมติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้มีการทำประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนก่อน

2.จะฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกครั้งด้วยการบรรจุเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย หลังจากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เคยบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 เมื่อถูกรัฐประหาร ไม่มีการบรรจุเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาอีกเลย ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันในสิทธิเสรีภาพและการใช้ชีวิตของประชาชนตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และวิธีปฏิบัติ หากเรื่องใดที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องได้รับการแก้ไข ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถือเป็นเรื่องใหญ่ของพรรคเพื่อไทย เพราะถือเป็นหลักประกันให้กับพี่น้องประชาชนว่า บุคคลใดจะละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นไม่ได้

3.ศึกษาโครงสร้างที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียม เพราะขณะนี้ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องใหญ่ในทางกฎหมาย และในทางปฏิบัติ ความเหลื่อมล้ำเป็นหนึ่งในหลักนิติธรรม (Rule of law) รวมถึงการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ต้องมีการยกเลิก แก้ไข ปรับปรุง อย่างเร่งด่วน

4.จะปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิ.อาญาฯ เพื่อให้เป็นหลักประกันประชาชนในสิทธิเสรีภาพ โดยสิทธิการประกันตัวต้องเป็นหลัก การไม่ให้ประกันตัวต้องเป็นข้อยกเว้นที่เขียนไว้โดยชัดเจนว่าไม่ให้ประกันตัวในเรื่องใดบ้าง ควรละเว้นการใช้ดุลยพินิจที่กว้างขวาง โดยเราจะหลีกเลี่ยงการเขียนกฎหมายที่ตีความได้กว้างขวาง เพราะที่ผ่านมาประชาชนต้องเผชิญกับการถูกคุมขังในศาลโดยไม่ได้รับการประกัน จากการใช้เหตุผล และดุลยพินิจที่กว้างขวาง

นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานกรรมการด้านยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง ในฐานะประธานกรรมการด้านประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม และความเสมอภาคเท่าเทียม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คณะกรรมการมีความเห็นพ้องตรงกันว่า ประชาธิปไตยในไทยมีปัญหา เพราะมีรัฐธรรมนูญที่มาจากผลพวงของการยึดอำนาจที่ประชาชนไม่เห็นชอบ หรือรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ รัฐธรรมนูญมีความสำคัญมากถือเป็นพื้นฐานของปกครองของประเทศ หากมีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีทางที่ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยได้

พรรคเพื่อไทยมีความพยายามมาเป็นเวลานานในการผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จาก ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เมื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้วแต่วุฒิสภาไม่เห็นด้วย จึงนำมาสู่ข้อยุติของคณะกรรมการชุดนี้ในวันนี้

สำหรับมติที่ประชุมในวันนี้จะนำไปเป็นนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย

“ถ้าเราได้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ต้องห่วง ทุกสิ่งที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ทุกเรื่องที่เราออกมา ไม่ใช่เราคิดเอง เพราะเราได้รับการร้องเรียนจากประชาชน เรารวบรวมมาเป็นนโยบายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขต่อไป” นายชัยเกษม กล่าว

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และกรรมการด้านประชาธิปไตยฯ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญถือเป็นการโครงสร้างพื้นฐานของการบังคับใช้กฎหมาย หากสามารถแก้ที่โครงสร้างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้ จะเป็นการสร้างพื้นฐานในการปรับในเรื่องอื่น ประมวลกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ขัดต่อหลักการขั้นพื้นฐาน จะถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม หรือยกเลิก ขึ้นอยู่กับสถานภาพของกฎหมายต่างๆ อีกครั้ง รัฐธรรมนูญเป็นหลักการที่คลุมทั้งหมด ส่วนในรายละเอียดจะมีการศึกษาต่อไป

ทั้งนี้ ภารกิจของพรรคในสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้คือ ประชาชน ส่วนพรรคเป็นเครื่องมือและกลไกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ตอนนี้ปัญหาสำคัญของประชาชนกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ กฎ ระเบียบ ที่ทำลายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เป็นปัญหาเร่งด่วน ที่เราจะทำควบคู่กันไป พรรคจำเป็นต้องวางนโยบายหลักไว้ให้ผู้ที่เห็นด้วย เข้ามาร่วมอุดมการณ์กับเรา และเราพร้อมทำทันที

“เราคิดอะไร เราจะทำทันทีเมื่อเป็นรัฐบาล หลายเรื่องเป็นปัญหาเร่งด่วน เพื่อให้ประเทศมีหลัก Rule of law การปกครองประเทศ ต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยปกครองประเทศ และจะเป็นแนวปฏิบัติไปสู่เรื่องอื่นๆ ทั้งหมด” นายภูมิธรรม กล่าว

นายนพดล ปัทมะ รองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และกรรมการด้านประชาธิปไตยฯ กล่าวว่า หลักการ 4 เรื่องถือเป็นนโยบายเบื้องต้น เป็นงานที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศถึงความมุ่งมั่นของพรรค เหรียญมีสองด้านเสมอ ปัญหาของประเทศ มีทั้งปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ ด้านของการสร้างประชาธิปไตยและกระบวนการยุติธรรม การสร้างความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำ ล้วนมีความสำคัญ หลักการข้างต้นที่ได้ประกาศนี้ ไม่ใช่เพื่อการเลือกตั้งเท่านั้น แต่เพื่อการบริหารประเทศในนามของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มี.ค. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top