ก.ล.ต.เปิดรับฟังความเห็นเกณฑ์ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพิ่มเติม

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำและเก็บรักษาบัญชีทดรองจ่ายทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ) เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพย์สินของลูกค้ามีการจัดเก็บแยกบัญชีอย่างถูกต้อง มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และไม่ถูกกระทบในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประสบปัญหาทางการเงิน รวมทั้งกำหนดลักษณะลูกค้าเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินอย่างเป็นธรรมกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจล้มละลาย

ปัจจุบัน สำนักงาน ก.ล.ต. มีหลักเกณฑ์เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพย์สินของลูกค้ามีการจัดเก็บแยกบัญชีอย่างถูกต้อง และไม่ถูกกระทบในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ประสบปัญหาทางการเงิน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ต้องจัดทำบัญชีแยกทรัพย์สินของลูกค้าแต่ละรายออกจากทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ เพื่อรองรับการที่กฎหมายคุ้มครองให้ทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นของลูกค้าได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และเนื่องจากในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาล่วงหน้า อาจมีกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องทดรองจ่ายเงินเพื่อลูกค้า ซึ่งทำให้ลูกค้ามีหนี้สินต่อผู้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ในบัญชีของลูกค้าด้วย และยังอาจมีกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งมีประเด็นเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้าว่ามีขอบเขตเพียงใด

สำนักงาน ก.ล.ต. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในการประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นควรกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อทรัพย์สินลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 เพื่อให้การคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้ามีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

(1) กำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำบัญชี สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ได้ทดรองจ่ายทรัพย์สินของตนแทนลูกค้า (บัญชีทดรองจ่ายฯ) ตามข้อมูลตามที่กำหนด เพื่อให้แยกได้ว่าส่วนใดเป็นทรัพย์สินของลูกค้าหรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ โดยต้องจัดเก็บไม่ไว้น้อยกว่า 5 ปี นับจากวันที่ทำธุรกรรม ทั้งนี้ ให้เริ่มปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้ภายใน 3 เดือนนับจากวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ

(2) กำหนดลักษณะลูกค้าซึ่งไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่มีสิทธิได้รับจัดสรรทรัพย์สินคืนก่อน เมื่อผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ โดยจะต้องไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ในลักษณะเป็น กรรมการ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) ผู้มีอำนาจควบคุม บริษัทใหญ่ หรือบริษัทย่อย ในวันที่มีการยื่นคำฟ้องนั้น

ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นซึ่งมีรายละเอียดการปรับปรุงหลักการในเรื่องดังกล่าวบนเว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=902 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถศึกษาและแสดงความคิดเห็นได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. หรือ ทาง e-mail :[email protected] จนถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2566

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 66)

Tags: ,
Back to Top