IMF หวั่นปมขัดแย้งเทคโนโลยีจีน-สหรัฐกระทบการลงทุน ฉุด GDP โลกวูบ 2%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า ความตึงเครียดทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐและจีน จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในต่างประเทศ และจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลกได้รับความเสียหายในอัตราส่วนสูงถึง 2% ในระยะยาว

IMF เปิดเผยในรายงานเมื่อวันพุธ (5 เม.ย.) โดยระบุว่า ขณะที่บริษัทเอกชนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำหนดนโยบายทั่วโลกกำลังประเมินแนวทางการพลิกฟื้นห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตกลับมายังประเทศของตนเองหรือย้ายไปยังประเทศต่าง ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

ทั้งนี้ IMF ระบุว่า ร่างกฎหมายหลายฉบับที่ทำให้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนทวีความรุนแรงขึ้นนั้น รวมถึงร่างกฎหมาย Chips and Science Act ของสหรัฐ และเมื่อไม่นานมานี้ ญี่ปุ่นประกาศว่าจะขยายขอบเขตมาตรการจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีการผลิตชิปที่ทันสมัย 23 ชนิด ซึ่งถือเป็นการเข้าร่วมกับสหรัฐในการสกัดไม่ให้จีนเข้าถึงชิปที่ทันสมัย โดย IMF กังวลว่ามาตรการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

สหรัฐพยายามผลักดันร่างกฎหมาย Chips and Science Act ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดขีดความสามารถของจีนในการเข้าถึงชิประดับไฮเอนด์ซึ่งจีนอาจใช้ในการผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ล้ำสมัย โดยรัฐบาลสหรัฐวิตกว่า จีนกำลังใช้ระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ล้ำสมัยเพื่อปรับปรุงการคำนวณต่าง ๆ ในการออกแบบอาวุธ, การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์, ระบบไฮเปอร์โซนิก และระบบขีปนาวุธอื่น ๆ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์ผลการสู้รบ

ขณะที่รัฐบาลจีนได้ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการเพิ่มอำนาจให้แก่กระทรวงสำคัญ พร้อมจัดตั้งสำนักงานใหม่ เพื่อให้เข้ามาสอดส่องดูแลข้อมูลสำคัญ ซึ่งถือเป็นการยกเครื่องภาคเทคโนโลยีครั้งใหญ่ของประเทศ เพื่อรับมือกับสหรัฐในภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปจนถึงชิปเซมิคอนดักเตอร์

ผลสำรวจล่าสุดซึ่งจัดทำโดยสมาคมหอการค้าอเมริกันในประเทศจีน (AmCham China) ระบุว่า บริษัทสหรัฐที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศจีนมีมุมมองเป็นลบมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีน โดยนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 25 ปีของสมาคมหอการค้าอเมริกันที่บริษัทผู้เข้าร่วมการสำรวจต่างก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า “จีนไม่ได้อยู่ในอันดับ 1 ใน 3 จุดหมายปลายทางด้านการลงทุนยอดนิยมที่สุดของบริษัทสหรัฐอีกต่อไป”

ทั้งนี้ 66% ของบริษัทที่ได้รับการสำรวจมองว่า ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐและจีนยังคงเป็นความท้าทายอันดับหนึ่งในการทำธุรกิจ ขณะที่ 65% ระบุว่า พวกเขาไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจีนจะยังคงเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากต่างชาติต่อไปอีกหรือไม่ โดยบริษัทสหรัฐส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการต้อนรับจากจีนน้อยกว่าในปีที่ผ่านมา

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 เม.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top