นักลงทุนจับตาภาวะตลาด-เศรษฐกิจสัปดาห์นี้ หลังเฟิร์สท์ รีพับลิกถูกซื้อกิจการ

ภาพ : รอยเตอร์

การที่เจพีมอร์แกน เชสตกลงเข้าซื้อกิจการธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (FRB) นั้น มีแนวโน้มที่จะช่วยยุติภาวะตื่นตระหนกต่อวิกฤตในภาคธนาคารของสหรัฐ แต่ปัญหาในภาคธนาคารก็ยังคงส่อเค้าสั่นคลอนตลาดต่าง ๆ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ โดยเจพีมอร์แกนเชสนั้นเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐเมื่อพิจารณาจากยอดเงินฝาก ส่วน FRB เป็นสถาบันการเงินรายใหญ่อันดับที่ 14 ของสหรัฐ

หลังจากที่ประสบความล้มเหลวในการพยุงธนาคาร FRB ให้เปิดบริการต่อไป เจพีมอร์แกน เชสจึงตกลงเข้าซื้อกิจการธนาคาร FRB โดยความเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นการช่วยยับยั้งการล่มสลายแบบเป็นวงกว้างในภาคธนาคารของสหรัฐ แต่สหรัฐมีแนวโน้มที่จะเผชิญปัญหาในภาคธนาคารอีกในอนาคต เนื่องจากยังไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาแบบโดยรวม

“นี่ไม่ใช่จุดจบ” นายแกรี คอห์น อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของโกลด์แมน แซคส์ให้สัมภาษณ์ในรายการ “Squawk Box” ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีในวันจันทร์ (1 พ.ค.) โดยกล่าวเสริมว่า “ผมไม่คิดว่าธนาคารจะล้มเพียงแค่สามแห่ง วิกฤตการณ์ในภาคธนาคารของสหรัฐนั้นไม่น่าจะจบลงง่าย ๆ เช่นนี้ ปัญหาในภาคธนาคารของสหรัฐจะเกิดขึ้นอีก”

รายงานระบุว่า เหตุการณ์ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB), ซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) และ FRB จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับภาคส่วนอื่น ๆ เนื่องจากบริการการเงินนั้นครอบคลุมกิจกรรมต่าง ๆ แบบเป็นวงกว้างในสหรัฐซึ่งมีมูลค่าเศรษฐกิจสูงถึง 26.5 ล้านล้านดอลลาร์

การเข้าซื้อกิจการธนาคาร FRB ของเจพีมอร์แกน เชสถือเป็นการเปิดฉากสัปดาห์ที่สำคัญสำหรับตลาดวอลล์สตรีท โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีกำหนดประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ยในพุธที่ 3 พ.ค.นี้ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 4 พ.ค.ตามเวลาไทย ขณะเดียวกันแอปเปิ้ลมีกำหนดเปิดเผยผลประกอบการในสัปดาห์นี้ เช่นเดียวกับสหรัฐที่เตรียมเปิดเผยรายงานการจ้างงานสำหรับเดือนเม.ย.ในสัปดาห์นี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การจ้างงานจะลดลงอีก

ตลาดหุ้นสหรัฐขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงเช้าวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น ท่ามกลางความหวังว่า สถานการณ์เลวร้ายที่สุดของวิกฤตภาคธนาคารเริ่มคลี่คลายลงแล้ว หลังจากเริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

“ความกังวลใจอาจเริ่มคลี่คลายลงแล้ว” นายไมค์ เมโย นักวิเคราะห์ภาคธนาคารของเวลส์ ฟาร์โกระบุ พร้อมกล่าวเสริมว่า “การแก้ไขปัญหา FRB ควรยุติระยะวิกฤตภาคธนาคารหลังเกิดเหตุการณ์ SVB ล้มเป็นเวลา 7 สัปดาห์”

ปัจจัยแรกที่นักวิเคราะห์จะสามารถใช้ประเมินผลกระทบที่ใหญ่ขึ้นจากปัญหาในภาคธนาคารได้นั้นคือการประชุมของเฟดในสัปดาห์นี้ โดยเช้าวานนี้บรรดาเทรดเดอร์ต่างคาดการณ์กันเพิ่มมากขึ้นว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เนื่องจากการที่สามารถแก้ไขปัญหา FRB ได้แล้วนั้นได้ช่วยสร้างความชัดเจนต่อคำถามเรื่องความเข้มแข็งของธนาคารระดับภูมิภาคในสหรัฐ

แต่นายคอห์น ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติในสมัยที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐระบุว่า วงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะยังคงส่งผลกระทบแบบต่อเนื่อง โดยหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ก็จะเท่ากับว่าเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 5% ในช่วงเวลา 14 เดือน ซึ่งเป็นวงจรการคุมเข้มที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ต้นยุค 1980

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้เจตนาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อธนาคารและบัญชีงบดุลนั้นค่อนข้างชัดเจน โดยเราจะเห็นผลกระทบบางอย่างในตลาดอสังหาริมมทรัพย์เชิงพาณิชย์”

นายคอห์นระบุว่า ภาคส่วนหนึ่งที่เขากำลังจับตาคือ จะเกิดอะไรขึ้นกับการใช้จ่ายผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 68% ของกิจกรรมเศรษฐกิจทั้งหมดในสหรัฐ

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ภาวะสินเชื่อจะตึงตัวมากขึ้นในอนาคตจากปัญหาในภาคธนาคาร ซึ่งจะบั่นทอนการใช้จ่าย โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยต่างก็ยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูงเช่นปัจจุบัน

รายงานระบุว่า การคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้ไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนต้องการเห็น โดยเฉพาะในช่วงที่บริษัทในสหรัฐกำลังรายงานผลประกอบการและก่อนสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงาน

FactSet ระบุว่า กำไรของบริษัทบนดัชนี S&P500 มีแนวโน้มขาดทุน 3.7% ในไตรมาส 1/2566 แม้ว่าบริษัท 79% จะรายงานผลประกอบการสูงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ขณะที่แอปเปิ้ลเตรียมรายงานผลประกอบการในสัปดาห์นี้ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะรายงานกำไร 1.43 ดอลลาร์ต่อหุ้นในไตรมาส 1/2566 ลดลงจาก 1.88 ดอลลาร์ต่อหุ้นในไตรมาสก่อนหน้า โดยแอปเปิ้ลถือเป็นสัญญาณชี้นำในภาคเทคโนโลยีสหรัฐ

“แอปเปิ้ลจะกลายเป็นจุดสนใจที่สำคัญ” นางควินซี ครอสบี หัวหน้านักกลยุทธ์ระดับโลกของบริษัทแอลบีแอล ไฟแนนเชียลระบุ พร้อมกล่าวเสริมว่า “เหตุผลคือแอปเปิ้ลจะส่งสัญญาณให้คุณรับรู้เกี่ยวกับแนวโน้มของอุปสงค์โลก แอปเปิ้ลมีความสำคัญในภาคส่วนต่าง ๆ มากมาย โดยผลประกอบการของแอปเปิ้ลมีความสำคัญที่สุดในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี”

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top