เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร้อนทำลายสถิติ ส่งผลมลพิษทางอากาศเลวร้ายหนัก

หลายเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบพบเจอกับอุณหภูมิที่ร้อนระอุตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยบางพื้นที่ทำสถิติมีอากาศร้อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ส่งผลให้คลื่นความร้อนและมลพิษทางอากาศในภูมิภาคทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์อากาศและอุทกอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของเวียดนาม เผยว่า อุณหภูมิในเมืองเตืองเซือง ทางตอนเหนือของประเทศ พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 44.2 องศาเซลเซียส ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยรายงานว่า เมืองหลวงพระบางของลาวก็มีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ในวันเสาร์ (13 พ.ค.) ที่ 43.5 องศาเซลเซียส

สำหรับกรุงเทพมหานครพบว่ามีอุณหภูมิที่ร้อนเป็นอย่างมากเช่นกันที่ 41 องศาเซลเซียสในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์เปิดเผยว่า สิงคโปร์มีอุณหภูมิพุ่งแตะ 37 องศาเซลเซียสในวันเสาร์ (13 พ.ค.) ที่ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งเท่ากับสถิติสูงสุดที่เคยบันทึกไว้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานเมื่อวานนี้ (15 พ.ค.) ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เผชิญความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งทำให้มลพิษทางอากาศในภูมิภาคเลวร้ายลง นอกจากนี้ การรวมตัวกันของระดับความร้อนที่สูงมากและหมอกควันที่มากเป็นทุนเดิม ทำให้ความเสี่ยงเรื่องการเจ็บป่วยจากความร้อนในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาด้านระบบทางเดินหายใจ หัวใจ และหลอดเลือด

ทั้งนี้ อุณหภูมิที่ร้อนระอุในปีนี้เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่ปริมาณน้ำฝนที่ลดลงในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา และปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเป็นรูปแบบของสภาพภูมิอากาศที่มักจะนำพาความร้อนและความแห้งแล้งมาสู่ภูมิภาค โดยทั่วไปแล้ว เดือนที่ร้อนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือเดือนมี.ค. – พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง และอุณหภูมิมักจะพุ่งสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top