ส.อ.ท.ชง กกร.ตั้งคณะทำงานผลักดันความร่วมมือการค้าการลงทุนไทย-ซาอุฯ

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เตรียมชงเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ให้ตั้งคณะทำงานเพื่อผลักดันความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนไทย-ซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากเห็นโอกาสทางธุรกิจ หลังร่วมคณะกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ เดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบีย ช่วงวันที่ 6-10 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระดับทวิภาคี และส่งเสริมการเจรจาการค้าและการลงทุนระหว่างภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศ

“จะชงเรื่องเข้าที่ประชุม กกร.เดือนหน้า เพราะเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจอีกมาก หากใครมีความพร้อมก็สามารถเข้าไปได้ก่อนเลย” นายชาติชาย พานิชชีวะ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าว

ทั้งนี้ เนื่องจากซาอุฯ ต้องการดึงนักลงทุนจากทั่วโลกและนักลงทุนจากไทย ไปร่วมโครงการ Saudi Vision 2030 ที่ตั้งเป้าหมายจะนำพาประเทศไปสู่อนาคตใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม กับนโยบายในการสร้างเมืองใหม่ ที่มีชื่อว่า “นีอุม” NEOM (Saudi Arabia Smart City) ขณะที่ซาอุฯ เป็นประเทศที่มีศักยภาพหลายด้าน ทั้งการเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้นำของกลุ่มคาบสมุทรอ่าวอาหรับ (GCC) ขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทย มีประชากร 35 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 50 ล้านคนในปี 2573 และยังสามารถเชื่อมโยงตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ

โดยการเดินทางไปเยือนซาอุฯ ในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการผลักดันการค้าการลงทุนร่วมกัน พร้อมขยายความร่วมมือและการลงทุนในด้านต่างๆ ได้แก่

– อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ (Automotive and Auto parts Industry) เนื่องจากได้ยกเลิกกฎหมายและอนุญาตให้ผู้หญิงซาอุฯ สามารถขับรถยนต์ได้ สนับสนุนให้ความต้องการใช้รถยนต์เติบโต จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยในการขยายตลาดในซาอุฯ มากขึ้น โดยเฉพาะสาขาชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญ และจะช่วยผลักดันให้ซาอุฯ เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตในระดับโลก

– อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง (Construction Industry) ซึ่งบริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีนโยบายขยายการลงทุน โดยมุ่งขยายธุรกิจและพัฒนาระบบนิเวศด้านการก่อสร้าง (Construction Ecosystem) ไปสู่การขยายห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ในด้านอื่นๆ ทั้งธุรกิจปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (Packaging) และ PVC เป็นต้น เพื่อต้องการสร้างเครือข่าย Supply chain ระหว่างประเทศ จึงมีแผนการจัดตั้งสำนักงาน ณ เมืองริยาด ภายในเดือน ก.ย.66 นอกจากนี้ สินค้าอื่นๆ ที่ยังมีโอกาสเติบโต เช่น เหล็ก ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ได้รับประโยชน์จากการลงทุน Mega Project ของซาอุฯ ในการสร้างเมืองและขยายเมืองเพื่อให้สอดรับกับแผน Saudi Vision 2030

– อุตสาหกรรมปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ (Fertilizer and Chemicals Industry) ซึ่งซาอุฯ เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกปุ๋ยเคมี อันดับที่ 6 ของโลก จากการเข้าพบหน่วยงาน Saudi Basic Industries Corporation (SABIC) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตปุ๋ยรายใหญ่รายหนึ่งของโลก และเป็นรายใหญ่ของซาอุฯ ได้แสดงความสนใจที่จะร่วมมือและขยายลงทุนกับไทย และในช่วงการเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้นำเข้าปุ๋ยและเคมีภัณฑ์จากซาอุฯ และทางบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจปุ๋ยในไทยมากถึง 45% ซึ่งไทยมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าปุ๋ยและเคมีภัณฑ์จากซาอุฯ ในจำนวนมากขึ้น

– โครงการปลูกต้นไม้ 50,000 ล้านต้น ในกลุ่มประเทศอาหรับ ตามเป้าหมายของ Vision 2030 ของซาอุฯ ที่มีแผนจะนำเข้าต้นไม้จากทั่วโลก เพื่อให้บรรลุตามนโยบายซาอุดีอาระเบียสีเขียว (The Saudi Green Initiative) เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีชีวิตชีวา โดยการปลูกต้นไม้ 10,000 ล้านต้น และร่วมสนับสนุนผลักดันโครงการปลูกต้นไม้ 50,000 ล้านต้นทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยได้ส่งต้นไม้ไปยังซาอุฯ แล้วกว่า 200,000 ต้น และถือว่ายังมีโอกาสให้ไทยส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุฯ ได้อีกมาก ซึ่งซาอุฯ จะร่วมมือกับประเทศสมาชิก GCC และประเทศหุ้นส่วนอื่นๆ ในการปลูกต้นไม้ในเอเชียตะวันตกเพิ่มอีก 4 หมื่นล้านต้น

นอกจากนี้ ทางคณะฯ ยังได้เยี่ยมชมศูนย์วิทยากรและเทคโนโลยีของซาอุดีอาระเบีย (King Abdulaziz City for Science and Technology : KACST) ซึ่งมีการแสดงนวัตกรรมของสินค้าอุตสาหกรรม เช่น Carbon Fiber อุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรม Semi-Conductor ในอนาคต เป็นต้น

โดยฝ่ายซาอุฯ มีความยินดีที่จะให้ใช้ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการของซาอุฯ หากสตาร์ทอัพ (Startup) ทั้ง 2 ประเทศตกลงที่จะร่วมกันเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนการทำงานร่วมกัน และหากผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝ่ายเกิดการร่วมทุนกันต่อเนื่อง หน่วยงานดังกล่าวพร้อมให้การสนับสนุนธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture capital) ให้อีกด้วย

“ตอนนี้ มีหลายอุตสาหกรรมที่เริ่มเข้าไปลงทุนแล้ว เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง หรือกลุ่มค้าปลีก เช่น พารากอน ที่เสนอตัวเข้าไปลงทุนถึง 3 หมื่นล้านบาท” นายชาติชาย กล่าว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ซาอุฯ เตรียมลงทุน 5 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างเมืองใหม่ “นีอุม” ในรูปแบบของอาคารสูง 500 เมตร กว้าง 200 เมตร ยาว 170 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นโครงการขนาดที่มีมูลค่ามหาศาล และจะเป็นโอกาสที่ดีให้กับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ

ส่วนแนวคิดที่ทางซาอุฯ จะมาลงทุนสร้างคลังน้ำมัน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Seaboard) นั้น จะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้กับภูมิภาคนี้ โดยจะเป็นจุดค้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มิ.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top