กทม. เตรียมพร้อมรับพายุ “ตาลิม” 16-20 ก.ค.

นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ เปิดเผยถึงความพร้อมของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการรับมือกับพายุ ‘ตาลิม’ ที่ส่งผลให้ฝนตกหนักถึงหนักมากในวันที่ 16-20 ก.ค. นี้ โดยการแจ้งเตือนของอุตุนิยมวิทยา ซึ่งประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งรวมถึงกทม. เนื่องจากร่องมรสุมกำลังแรงจะพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง

สำนักการระบายน้ำ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ติดตามการพยากรณ์ ทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุ และการแจ้งเตือนลักษณะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงใช้เรดาร์ตรวจอากาศของกรุงเทพมหานคร ติดตามกลุ่มฝน พร้อมแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ก่อนที่กลุ่มฝนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่ กทม.

ในขณะเดียวกัน ก็เร่งลดระดับน้ำในคูคลอง บ่อสูบน้ำและแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จัดเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) เข้าพื้นที่ขณะที่มีฝนเริ่มตกพร้อมตรวจสอบเร่งระบายน้ำ ตามจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังและบริเวณทางอุโมงค์ทางลอดต่างๆ พร้อมทั้งการจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงช่องรับน้ำฝน ขยะหน้าตะแกรงหน้าสถานีสูบน้ำ

รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขัง จัดเก็บขยะวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำเพื่อให้ไหลได้สะดวกรวดเร็ว จัดเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมเครื่องสูบน้ำตามสถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำและบ่อสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองประจำสถานีสูบน้ำกรณีไฟฟ้าขัดข้อง จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) รถเครน รถบรรทุกติดตั้งเครนยกไฮโดรลิค บอลลูนไลท์ เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อตรวจสอบแก้ไขเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ จัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลที่ใช้งานในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม

ขณะเดียวกัน ได้ประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานที่กำลังดำเนินการโครงการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่กทม. และยังไม่แล้วเสร็จโดยให้เร่งการแก้ไขปัญหาหรือเปิดทางระบายน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของกทม. เช่น โครงการก่อสร้างคูระบายน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิตของกรมทางหลวง โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ส่วนพื้นที่รอยต่อระหว่างกทม. กับจังหวัดต่างๆ ได้มีการประชุมหารือร่วมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณเขตรอยต่อระหว่างกทม. และปริมณฑล เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ที่อาจจะได้รับผลกระทบปัญหาความเดือดร้อน เพื่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ ยังได้เปิดช่องทางการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ ตลอดจนช่องทางแจ้งเหตุเพื่อขอรับความช่วยเหลือผ่านช่องทางเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th, www.prbangkok.com, Facebook:@BKK.BEST, กรุงเทพมหานคร, https://www.facebook.com/PRBangkok, Twitter:@BKK_BEST,

รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กทม. ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร 02-2485115 แจ้งปัญหาทางระบบทราฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านนายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) เปิดเผยถึงความพร้อมรับมือพายุ ‘ตาลิม’ ว่า สปภ. ได้สั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยจัดเตรียมยานพาหนะ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดหาบหาม และเครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก (ไดโว่) พร้อมให้การสนับสนุนและบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักเทศกิจ กองโรงงานช่างกล และสำนักงานเขตพื้นที่ ในการลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขัง ในช่วงที่มีฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที หากกรณีมีน้ำท่วมขังในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่กทม.

ทั้งนี้ ได้ขอให้ผู้อำนวยการเขตในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามมาตรา 37 ประกอบกับมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ดำเนินการสำรวจความเสียหายต่างๆ พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหาย และออกหนังสือรับรองให้ผู้ประสบภัยไว้เป็นหลักฐาน เพื่อขอรับการสงเคราะห์ตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมขัง สามารถขอความช่วยเหลือมาทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top