ANAN พุ่ง 8.86% ตอบรับความคาดหวัง “แอชตัน อโศก” มีทางออก

ANAN ปรับตัวขึ้น 8.86% หรือเพิ่มขึ้น 0.07 บาท มาที่ 0.86 บาท มูลค่าซื้อขายราว 75.12 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.57 น. จากราคาเปิด 0.80 บาท ราคาสูงสุด 0.87 บาท ราคาต่ำสุด 0.79 บาท

นายสรพงษ์ จักรธีรังกูร ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ราคาหุ้นของ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) ที่ปรับตัวขึ้นมาในวันนี้ คาดนักลงทุนรับรู้ข่าวลบไปพอสมควรแล้ว บวกกับ ANAN ที่มีการ Take Action เร็ว โดยล่าสุดก็มีการออกหนังสือชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหา “คดีคอนโดแอชตัน อโศก” ทำให้ตลาดมีความเชื่อมั่นขึ้นมาว่าจะสามารถแก้ไขได้ ขณะเดียวกันวันนี้ กทม. มีการแถลงข่าว กรณี แนวทางการดำเนินการกับคอนโดแอชตัน อโศก มองว่าจะมีทางออกให้กับเรื่องวดังกล่าวได้

เช้าวันนี้ ANAN ออกหนังสือชี้แจงกรณีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดต่อโครงการแอชตัน อโศกว่า บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด มีแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้

1. แนวทางแก้ไขกรณีใบอนุญาตก่อสร้าง บริษัทกำลังเร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไขซึ่งมีอยู่หลายแนวทางที่มีความเป็นไปได้ คือ

-ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อ หรือหาที่ดินเพิ่มเติม

-เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน สำนักการโยธากรุงเทพมหานครไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี

-เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน รฟม. เสนอผ่านกระทรวงคมนาคม ไปยังคณะรัฐมนตรี

-ประสานเจ้าของเดิม ให้ยื่นทบทวนสิทธิ์ที่ดินทางเข้า-ออกจาก รฟม. ให้ทบทวนสิทธิที่ดินเดิมก่อนเวนคืน ควรให้สิทธิ์ทางเข้า-ออกอย่างน้อย 12-13 เมตร เพื่อให้สามารถขึ้นอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษได้

-ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป

2. แนวทางช่วยเหลือ เรื่องการผ่อนชำระสินเชื่อของเจ้าของร่วมที่มีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน ช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้เร่งประสานงานกับสถาบันการเงินหลายแห่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการผ่อนชำระสินเชื่อ โดยบริษัทฯ ขอให้สถาบันการเงินพิจารณาแนวทางด้านการผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และขอให้สถาบันการเงินพิจารณาแนวทางสำหรับมาตรการลดภาระในการผ่อนชำระอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลพิจารณาจากสถาบันการเงิน

3. ประเด็นชี้แจงอื่นๆ เพิ่มเติม

3.1 การออกใบอนุญาตเปิดใช้อาคารแบบมีเงื่อนไข ประเด็นเรื่องข้อสงวนที่ กทม. กำหนดว่าบริษัทจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้อง หากผลการพิจารณาของศาลปกครองเป็นที่สุดว่าโครงการดำเนินการขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคาร ข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฎอยู่เพียงในใบรับรองการก่อสร้าง (อ.6) ซึ่งเอกสารดังกล่าว กทม.ออกให้บริษัทหลังจากที่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและได้มีการขายให้กับลูกค้าแล้ว นอกจากนี้ ในใบอนุญาตอื่นที่ กทม.ออกให้แก่บริษัทก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีข้อความทำนองนี้ปรากฎอยู่ในใบอนุญาต และบริษัทมีความตั้งใจที่จะร่วมแก้ปัญหาไปพร้อมกับ กทม.ต่อไป

3.2 เงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ และรับทราบสถานะคดี บริษัทได้แจ้งเรื่องของคดีที่อยู่ในศาลปกครอง นับแต่ที่ลูกค้าได้ทำการซื้อขายห้องชุดกับบริษัทฯ ตามลำดับดังนี้

– ในช่วงแรกที่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด บริษัทได้ขอขยายระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ โดยแจ้งเรื่องคดีของโครงการให้ลูกค้าทราบ พร้อมทั้งเสนอแนวทาง 3 ข้อให้พิจารณา คือ (1) การยกเลิกสัญญา และคืนเงิน (2) การย้ายโครงการตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ (3) หากถือสัญญาไว้ต่อจนถึงครบกำหนดการขยายระยะเวลา (26 มีนาคม 2562) จะได้รับส่วนลด ณ วันโอน ในอัตรา 7.5% ต่อปี ของเงินที่ชำระมาแล้วทั้งหมด ซึ่งลูกค้าจองทั้งหมด 766 ราย มีลูกค้ายกเลิกสัญญาทั้งหมด 244 ราย, ย้ายโครงการ 4 ราย และ อยู่รอโอนกรรมสิทธิ์ 518 ราย หลังจากที่บริษัทฯ ได้มีการแจ้งให้ลูกค้าทราบทั้ง 3 แนวทาง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top